Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กันยายน 2564

Econ Digest

Buy American VS Buy Chinese มาตรการกำหนดขอบข่ายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สนับสนุนสินค้าในประเทศ ตอกย้ำความตึงเครียดสหรัฐฯ-จีน

คะแนนเฉลี่ย

Buy American กับ Buy Chinese เป็นมาตรการของสหรัฐฯ และจีนที่เป็นประเด็นขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกัน ต่างฝ่ายต่างนำมาใช้เพื่อกำหนดขอบข่ายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้สนับสนุนการใช้สินค้าภายในประเทศเป็นหลัก โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2564 สหรัฐฯ เสนอร่างนโยบาย Buy American ที่นายโจ ไบเดนประกาศพยายามผลักดันตั้งแต่ขึ้นรับต่ำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ และกำลังอยู่ระหว่างพิจารณานำมาใช้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ขณะที่ทางฝั่งจีนได้เริ่มใช้ Buy Chinese กับหน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจท้องถิ่นตั้งแต่ 14 พ.ค.2564 
สำหรับ Buy American อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสหรัฐฯ แต่เป็นนโยบายที่มีมาตั้งแต่ปี 2476 (ค.ศ.1933) เพื่อให้เม็ดเงินของภาครัฐสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ แต่ในระยะหลังตั้งแต่สมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มกลายเป็นเครื่องมือใช้เดินเกมการค้ากับจีนต่อเนื่องมาจนถึงในสมัยของนายโจ ไบเดนที่มีการกำหนดขอบข่ายใหม่ มีเป้าหมายระยะยาวในการขยับเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าของภาครัฐให้มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 60% ในปีนี้ (จากข้อกำหนดเดิมอยู่ที่ 55%) จากนั้นเพิ่มเป็น 65% ในปี 2567 และขยับเป็นระดับสูงสุดที่ 75% ในปี 2573 อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดนี้มีผลต่อการซื้อสินค้าเท่านั้น ยังไม่รวมภาคบริการ และมีรายละเอียดในทางปฏิบัติค่อนข้างซับซ้อน
ในด้านของจีนที่นำ Buy Chinese มาใช้ตั้งแต่เดือน พ.ค.2564 ดูเหมือนจะคล้ายกับของสหรัฐฯ แต่ Buy Chinese กลับมีรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่า Buy American โดยกำหนดสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีองค์ประกอบของชิ้นส่วนในประเทศไม่ต่ำกว่า 25% ไปจนถึงระดับสูงสุด 100% ซึ่งระดับนี้แทบไม่เปิดโอกาสให้สินค้าต่างชาติได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของรัฐ ต่างกับของสหรัฐฯ ที่ข้อกำหนดให้ซื้อสินค้าในประเทศ 75% โดยสัดส่วนที่เหลือยังเปิดช่องให้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ทางการจีนยังพุ่งเป้าไปที่สินค้าไฮเทค 41 ประเภท แบ่งสินค้าเป็น 315 รายการ ในจำนวนดังกล่าวมีสินค้ากลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ถึง 200 รายการ อาทิ เครื่อง MRI เครื่องเอ็กซเรย์ กล้องที่ใช้ในการผ่าตัด รวมทั้งเครื่องตรวจโควิดแบบ PCR สิ่งเหล่านี้จีนล้วนนำเข้าจากสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ ส่งออกมาจีน 10% ของมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์การแพทย์ที่สหรัฐฯ ส่งออกไปตลาดโลกที่ 47.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561
มาตรการของจีนแม้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดชัดเจน แต่กลับทำให้ความตึงเครียดการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน กลับมาเปราะบางยิ่งขึ้น เนื่องจากสิ้นปี 2564 นี้ ความตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เฟส 1 จะครบกำหนด และการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ของสหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในเงื่อนไข แต่มาตรการ Buy Chinese กลับกลายเป็นอีกอุปสรรคสำคัญ อาจทำให้การบรรลุความตกลงยากจะเป็นไปได้ จากที่ในขณะนี้ก็ยังห่างไกลกับเป้าหมาย โดยตั้งแต่เริ่มความตกลงเฟส 1 เมื่อม.ค.2563 จนถึง มิ.ย.2564 จีนนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ตามเงื่อนไขได้เพียง 68 พันล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็น 34% ของเป้าหมายทั้งหมด1  ที่ต้องซื้อสินค้าสหรัฐฯ ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ (เทียบจากปีฐาน 2560)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังไม่จางหายและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปเพื่อรักษาสถานะของตนเองในเวทีโลก แม้รูปแบบจะเปลี่ยนเป็นการปะทะกันโดยอ้อมผ่านทุกนโยบายที่แฝงไว้ด้วยแรงกดดันกับฝั่งตรงข้ามดังเช่น Buy American กับ Buy Chinese ที่เริ่มนำมาใช้ในเวลาใกล้เคียงกัน ประกอบกับมาตรการอื่นๆ ที่ทั้งคู่ทยอยนำมาใช้เพิ่มแรงกดดันด้านเทคโนโลยีระหว่างกัน ซึ่งท่าทีของทั้งคู่หลังจากนี้อาจนำไปสู่การเจรจาการค้าในระยะต่อไปที่ต้องติดตามการเจรจาระหว่างกันในช่วงการประชุมผู้นำ G20 ในเดือน ต.ค.2564 
ดังนั้น ธุรกิจต่างชาติที่ติดต่อรับงานภาครัฐของทั้งสองประเทศคงต้องบริหารจัดการสินค้าและการผลิตให้สอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ ที่มีความซับซ้อนขึ้น โดยในเบื้องต้นไทยได้รับผลกระทบโดยตรงค่อนข้างน้อยเนื่องจากนโยบายของจีนที่พุ่งเป้าไปที่สินค้าเทคโนโลยีการแพทย์เป็นหลัก แต่นโยบายของสหรัฐฯ ที่มีความครอบคลุมสินค้าหลากหลายมากกว่าอาจส่งผลต่อสินค้าไทยที่เข้าข่าย ขณะที่ผลโดยอ้อมจะเกิดกับสินค้าขั้นกลางของไทยที่อาจถูกกีดกันจากการกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีของโลกคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด




-------------------------------------------------------------
1Peterson Institute for International Economics

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest