Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ธันวาคม 2564

Econ Digest

สหรัฐฯ–EU สานสัมพันธ์ ยุติข้อพิพาทภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม

คะแนนเฉลี่ย

​           สหรัฐฯ กับ EU บรรลุความตกลงยุติข้อพิพาทเรื่องภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2564 สะท้อนจุดเปลี่ยนของสหรัฐฯ ในการกลับมาสานสัมพันธ์กับนานาชาติอีกครั้ง ความตกลงในครั้งนี้มีผลให้สินค้านำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจาก EU ที่ต้องโดนสหรัฐฯ เก็บภาษีตามมาตรการปกป้องความมั่นคงของชาติ (National Security) มาตรา 232 จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 2 ปี เริ่มวันที่ 1 ม.ค.2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566
           สหรัฐฯ จะยกเลิกการเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจาก EU ในมาตรา 232 เท่านั้น โดยสินค้านำเข้าจาก EU ที่เกินโควต้าที่กำหนดจะต้องเสียภาษีตามมาตรา 232 เหมือนเดิม และจะพิจารณาปรับเปลี่ยนโควต้าการนำเข้าเป็นรายปี โดยในเบื้องต้นกำหนดให้ 1) สินค้าเหล็กจะต้องหลอมและขึ้นรูปภายใน EU เท่านั้น มีโควต้านำเข้าที่ไม่ต้องเสียภาษี 3.3 ล้านตัน/ปี ครอบคลุมสินค้า 54 ประเภท เช่น แท่งเหล็กกลม/แบน แผ่นเหล็กรีดร้อน/รีดเย็น แท่งเหล็กรีดร้อน/รีดเย็น ลวด ท่อเหล็ก ท่อน้ำมัน และท่อแรงดัน เป็นต้น 2) สินค้าอะลูมิเนียม แบ่งเป็น 2.1) อะลูมิเนียมยังไม่ขึ้นรูป 18,000 ตัน/ปี มี 2 ประเภท ประกอบด้วยอัลลอยและไม่ใช่อัลลอย และ 2.2) อะลูมิเนียมขึ้นรูป 366,000 ตัน/ปี มี 14 ประเภท ได้แก่ แท่ง อัลลอยกลวง ฟรอย ท่อไร้รอยต่อ ท่อมีรอยต่อ เส้นลวด แผ่น ขึ้นรูปและไม่ขึ้นรูป เป็นต้น อย่างไรก็ดี การส่งออกเหล็กของ EU ไปสหรัฐฯ ในแต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน จึงมีเหล็กบางส่วนที่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงอยู่ดี
          ในขณะที่ EU จะยกเว้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ในกลุ่มวิสกี้ รถจักรยานยนต์และกางเกงยีนส์ที่เคยเก็บภาษีตอบโต้มาตรา 232 ให้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในยุคสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศตามมาตรา 232 นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาชาติตั้งแต่เดือน มี.ค.2561 จนถึงปัจจุบัน โดยเป็นการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากอัตรา MFN มีผลทำให้การนำเข้าสินค้าเหล็กจาก EU มีภาษีเพิ่มขึ้นอีก 25% และอะลูมิเนียม 10% ซึ่งอันที่จริงยังมีประเทศอื่นที่ถูกเก็บภาษีในแบบเดียวกันทั้งตุรกี จีน อังกฤษ รวมถึงไทย (ไทยได้รับการยกเว้นเป็นรายการสินค้า)
           การยุติข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และ EU แฝงไว้ด้วยนัยกีดกันสินค้าจากจีนทางอ้อม จากการกำหนดข้อยกเว้นเฉพาะสินค้าเหล็กที่หลอมและขึ้นรูปในประเทศสมาชิก EU เท่านั้น ซึ่งเป็นการปิดช่องทางเหล็กจากจีนและชาติอื่นไม่ให้แทรกตัวเข้ามาใช้ EU เป็นแหล่งแปรรูปเพื่อส่งผ่านสินค้าไปสหรัฐฯ ไปโดยปริยาย นอกจากนี้ การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ EU ยังเป็นอีกก้าวหนึ่งในการเดินหน้าสู่ความร่วมมือระดับโลกในเรื่องความยั่งยืนของเหล็กและอะลูมิเนียมที่มีเป้าหมายกีดกันการค้าเหล็กที่ก่อมลพิษของจีน (Dirty steel) ผ่านการกดดันจีนที่เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกด้วยต้นทุนต่ำแต่ก่อให้เกิดมลพิษสูงต่างกับสหรัฐฯ และยุโรปที่มีเทคโนโลยีการผลิตด้วยต้นทุนสูงแต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกว่า นอกจากนี้ เรื่องเหล็กอาจเป็นอีกปัจจัยที่สหรัฐฯ นำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาการค้ากับจีนที่ขณะนี้ความตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน Phase 1 กำลังจะครบกำหนดในสิ้นปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก
          สำหรับไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยไม่ได้อานิสงส์จากความตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับ EU ถึงแม้ว่าสินค้าไทยจะถูกเก็บภาษีตามมาตรา 232 แต่ในปัจจุบันสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยที่เข้าสู่สหรัฐฯ 233.5 ล้านดอลลาร์ฯ (ปี 2563) หรือคิดเป็น 8.5% ของการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยทั้งหมด ล้วนไม่เสียภาษีเนื่องจากมาตรการดังกล่าวเปิดทางให้นานาชาติเข้าไปเจรจาขอผ่อนผันได้เป็นครั้งๆ อย่างไรก็ดี จุดสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่การเดินเกมของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของนายโจ ไบเดน ที่มีการฟื้นความสัมพันธ์กับชาติต่างๆ ที่เคยหายไปในช่วงยุคนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจจะกลับมาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการกดดันจีนได้อย่างเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ด้วยการนำมาตรการกดดันจีนรูปแบบใหม่ภายใต้การนำของสหรัฐฯ กับพันธมิตรโดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่กลายเป็นกระแสใหม่ของการค้าโลกหลังจากนี้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวและเตรียมพร้อมรับมืออย่างใกล้ชิด

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest