Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มีนาคม 2563

Econ Digest

WHO ยกระดับ COVID-19 เป็น“การระบาดครั้งใหญ่ของโลก” ผลต่อส่งออกไทย...

คะแนนเฉลี่ย

​         ในช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกต่างกังวลกับสถานการณ์การผลิตชะงักงัน จากการที่จีนเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ขณะนี้สถานการณ์ภายในจีนกำลังกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลบวกต่อภาคการผลิตทั่วโลก แต่ในทางกลับกันไวรัสที่เริ่มแพร่ระบาดนอกประเทศจีน จนกระทั่งล่าสุด WHO ได้ยกระดับให้เป็น “การระบาดครั้งใหญ่ของโลก” ทำให้สภาวะตลาดโลกต่อจากนี้ต้องซบเซาลงจากการที่ต้องปิดเมือง ปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาด ไล่เรียงไปจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังอยู่ในระยะวิกฤต และสหรัฐอเมริกา ที่อยู่ในระยะเริ่มต้น สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นสัญญาณลบอีกครั้งของผู้ประกอบการส่งออกไทยและธุรกิจไทยที่ต้องรับมือกับการอ่อนไหวของตลาดทั่วโลกอีกครั้ง

          การฟื้นตัวของจีนทำให้จีนเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยกู้วิกฤตจากการระบาดของไวรัส เห็นได้จากการส่งออกของจีนไปตลาดโลกเร่งตัวขึ้นสูงในกลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนกระเตื้องขึ้นในกลุ่มสินค้าขั้นกลางของไทยที่ช่วยสนับสนุนการผลิต โดยเฉพาะยางพารา เส้นใยสังเคราะห์ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารและสินค้าจำเป็นของไทยก็น่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นไม่ว่าจะเป็น ผลไม้ไทย อุปกรณ์การแพทย์ ถุงมือทางการแพทย์

           อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกไปจีนจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2/2563 แต่คงไม่เพียงพอที่ดึงภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนทั้งปีให้กลับมาเร่งตัว เนื่องจากบรรยากาศและกำลังซื้อของจีนคงอ่อนแรงตลอดช่วงที่เหลือของปี ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปจีนปี 2563 ไม่ต่างไปจากที่คาดการณ์เดิมว่าจะหดตัวราวร้อยละ 6-9 ซึ่งการอาศัยเพียงตลาดจีนอย่างเดียวคงไม่สามารถกู้วิกฤตการส่งออกของไทยได้ให้ฟื้นกลับมาได้ในทันที โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า การส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2563 จะยังหดตัวที่ร้อยละ 5.6

            สำหรับการแพร่ระบาดในไทยแม้ว่าจะยังไม่รุนแรง แต่การซบเซาของตลาดในไทยและตลาดต่างประเทศได้ส่งผ่านมายังธุรกิจไทยบ้างแล้ว และหากไม่สามารถยุติได้โดยเร็ว จะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ยืดเยื้อออกไป กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจไทยจะต้องเผชิญจากนี้ไป โดยกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก อย่างกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเกษตร แม้จะยังพอทำตลาดได้ แต่ความซบเซาภายในประเทศจากการเฝ้าระวังไวรัส อาจยิ่งซ้ำเติมรายได้ภาคเกษตรกรไทยในปีนี้ สำหรับกลุ่มที่พึ่งพาวัตถุดิบ/นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สามารถทยอยกลับมาผลิตได้ตามการฟื้นตัวของจีน แต่ในระยะแรกคงไม่สามารถทำได้เต็มที่ ด้วยข้อจำกัดของวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางจากจีนที่ต้องใช้เวลาฟื้นกลับมา อีกทั้งยังต้องประสบปัญหาที่ว่าแม้จะผลิตได้ แต่ด้วยสภาพตลาดไม่เอื้อจึงไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งธุรกิจที่นำสินค้าเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศก็ประสบปัญหาสภาพตลาดเช่นเดียวกัน จึงคงต้องอาศัยเงินทุนหมุนเวียนให้พอประคองธุรกิจให้ไปต่อได้จนกว่าทุกอย่างจะกลับสู่สภาพเดิม

             ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะยังเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าอื่นที่ยังไม่จาเป็นต้องใช้ในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ยานยนต์ อุปกรณ์แต่งบ้าน อุปกรณ์กีฬา คงต้องยอมรับสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และอดทนรอให้ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest