Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มิถุนายน 2564

Econ Digest

ราคา "เหล็ก-ทองแดง-ปิโตรเคมีภัณฑ์" ยืนสูง กระทบต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไทย

คะแนนเฉลี่ย


นับตั้งแต่ต้นปี 2564 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะเหล็ก ทองแดง และปิโตรเคมีภัณฑ์ เช่น เม็ดพลาสติก และเอทิลีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมการผลิต ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (CRB Index) ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า  20%    โดยมีแนวโน้มยืนระดับสูงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2564  จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังการควบคุมการระบาดของโควิด 19 และการเร่งฉีดวัคซีนในหลายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน สหรัฐฯ และยุโรป ที่ส่งผลให้มีความต้องการวัตถุดิบเหล่านี้ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ  เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยเฉพาะที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ 
 
ในส่วนของราคาเหล็ก  มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากอุปทานที่ตึงตัว ทั้งจากกำลังการผลิตสินแร่เหล็กในออสเตรเลียและบราซิล รวมถึงอุปทานเหล็กสำเร็จรูปจากจีนที่ลดลง ส่งผลให้ราคาเหล็กน่าจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้อีกในช่วงครึ่งหลังของปี  สำหรับราคาทองแดง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอุปทานที่ตึงตัวในประเทศชิลี แม้ราคาทองแดงอาจเริ่มมีทิศทางผ่อนคลายลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ก็น่าจะยังคงทรงตัวในระดับสูงจากอุปสงค์ที่ยังคงแข็งแกร่ง  ในสวนของราคาปิโตรเคมีภัณฑ์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลก โดย คาดว่าราคาปิโตรเคมีภัณฑ์น่าจะแตะจุดสูงสุดช่วงกลางปี  และเริ่มมีทิศทางผ่อนคลายลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ก็น่าจะยังคงมีระดับที่สูงกว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา
 
สำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตไทย   ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์ ซึ่งพึ่งพาวัตถุดิบเหล่านี้ในสัดส่วนสูง จะเป็น 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ     ถึงแม้ว่าในภาพรวมสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบรวมต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดจะไม่เกิน 40%  กล่าวคือเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 36.8% เครื่องจักรอยู่ที่ 33.6% และยานยนต์อยู่ที่ 28.7%  อีกทั้งผู้ประกอบการอาจสามารถบริหารจัดการต้นทุนด้านราคาวัตถุดิบที่เร่งสูงขึ้นนี้ได้ผ่านแนวทางต่างๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม  ราคาวัตถุดิบที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง อาจเพิ่มแรงกดดันให้เกิดภาวะอุปทานตึงตัวมากขึ้น นำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตและการส่งมอบสินค้าขั้นสุดท้ายไปสู่ผู้บริโภคในที่สุด  


​​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest