Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 สิงหาคม 2564

Econ Digest

เดลต้าป่วน...ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ นักท่องเที่ยวทั่วโลก หดตัว 45% เหลือ 220 ล้านคน

คะแนนเฉลี่ย

การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เร่งตัวขึ้น ทำให้หลายประเทศต้องยกระดับมาตรการจำกัดการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ และเตือนประชาชนในการไปท่องเที่ยวต่างประเทศ แม้จะมีการใช้วัคซีนพาสปอร์ตมาช่วยลดอุปสรรคในการเดินทาง แต่ยังมีเงื่อนไขอื่น อาทิ ชนิดของวัคซีนที่ยอมรับ ขณะที่บางประเทศแม้นักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนแล้ว แต่ถ้ามาจากประเทศเสี่ยงสูงก็ยังต้องกักตัว ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด การท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกปี 2564 จะหดตัวราว 45% จากปีก่อน หรือมีจำนวนเพียง 220 ล้านคน จาก 399 ล้านคนในปี 2563 และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกต้องใช้เวลายาวนานขึ้น อย่างน้อยกว่า 4 ปี หรือหลังปี 2568 กว่าที่จะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด

ตลาดต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือปี 2564 มีความท้าทายมากขึ้น โดยนอกจากไทยใช้มาตรการควบคุม ซึ่งไม่เอื้อต่อการท่องเที่ยวแล้ว ทางการหลายประเทศก็ได้ยกระดับคำเตือนประชาชนที่จะมาเที่ยวไทย อีกทั้งตลาดท่องเที่ยวไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการเมือง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือปีนี้อาจต่ำกว่าที่เคยคาด โดยทั้งปี 2564 อาจมีจำนวน 1.5 แสนคน จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 2.5-6.5 แสนคน โดยหากไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีในพื้นที่เป้าหมายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี การท่องเที่ยวน่าจะทยอยกลับมาได้ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้

ทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่เหลือปีนี้และหลังจากนี้ ปัจจัยสำคัญขึ้นกับการสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ การระบาดส่งผลให้พฤติกรรมและความชอบของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป โดยจะให้น้ำหนักการเลือกจุดหมายที่ปลอดภัยจากโควิด มีมาตรการควบคุมการระบาดในท้องที่ มองหาสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ หลีกเลี่ยงสถานที่ท่องเที่ยวแออัด นักท่องเที่ยวไม่น้อยจะใช้เวลาในการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และเมื่อพบแล้ว ระยะเวลาการจองที่พักและการเดินทางจะสั้นลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2 สัปดาห์หรือไม่ก็ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งน้อยลงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ราว 8-10 สัปดาห์ในช่วงก่อนโควิด


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest