Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 มีนาคม 2565

บริการ

B2C E-commerce กลุ่มสินค้า ปี’ 65 คาดขยายตัวราว 13.5% ...จากการดึงส่วนแบ่งหน้าร้านโดยเฉพาะอาหารและของใช้ส่วนตัว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3309)

คะแนนเฉลี่ย

​ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความไม่แน่นอนของโควิด-19 รวมถึงผลกระทบจากความไม่สงบในยูเครนที่อาจยืดเยื้อ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้คาดว่า ปี 2565 ธุรกิจ B2C E-commerce กลุ่มสินค้า แม้อาจขยายตัวราว 13.5% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 5.65 แสนล้านบาท แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงและต่ำสุดเทียบกับ 3 ปีก่อนหน้าที่ขยายตัวเฉลี่ย 40% ต่อปี

อีกทั้งผู้บริโภคได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการวางแผนปรับลดการใช้จ่ายผ่านหน้าร้าน (Physical stores) มาเป็นการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (E-commerce) มากขึ้น ภายใต้งบประมาณการใช้จ่ายโดยรวมที่ยังคงจำกัดหรือไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารและของใช้ส่วนตัวที่เดิมทีผู้บริโภคมักซื้อผ่านช่องทางหน้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และคอนวีเนี่ยนสโตร์ แต่จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและการปรับตัวของผู้ประกอบการค้าปลีกผ่านการทำกลยุทธ์ Omni-channel (Offline to Online) ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น สะท้อนได้จากยอดขายของผู้ประกอบการค้าปลีกบางรายที่ยอดขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในปีที่ผ่านมาโต 2-3 เท่าตัว แต่ยอดขายในภาพรวมกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักหรือโตในกรอบจำกัด (และเป็นผลของราคาเป็นหลัก) สอดคล้องไปกับผลสำรวจของผู้บริโภคที่คาดว่าปีนี้ จะหันมาใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ขณะที่งบประมาณยังคงเท่าเดิมหรือใช้จ่ายอย่างจำกัด

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมถึงราคาค่าขนส่งสินค้าที่อาจจะแพงขึ้นตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูง ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมการเติบโตของธุรกิจ E-commerce ตามมา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องวางแผนรับมือกับปัจจัยท้าทายต่างๆ ข้างต้น โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของการให้บริการออนไลน์ที่ดีสม่ำเสมอ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ท่ามกลางประเภทของสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์แตกต่างกันน้อยลง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ