Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ธันวาคม 2560

บริการ

ค้าปลีกปี’ 61 การแข่งขันขยายวงกว้างสู่ Non-Retail … ผู้ประกอบการค้าปลีกเร่งปรับตัวรับโจทย์ท้าทายที่แตกต่างกัน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2891)

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องของธุรกิจ E-Commerce นับเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของการดำเนินธุรกิจค้าปลีกในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการรุกเข้ามาของกลุ่มตลาดกลางออนไลน์ (E-Market Place) ต่างชาติรายใหญ่ อีกทั้งสัญญาณการเติบโตของ E-Commerce ที่คาดว่าในปี 2561 น่าจะขยายตัวร้อยละ 20-25 ต่อเนื่องจากปี 2560 ยังจูงใจให้บรรดาธุรกิจต่างๆ ที่นอกเหนือจาก​ธุรกิจค้าปลีก (Non-Retail) มีการแตกไลน์ธุรกิจ และสนใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะค้าปลีกออนไลน์โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน สัญญาณดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่ทวีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นในระยะข้างหน้า

แม้ว่าก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละรายจะมีความพยายามในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปรับพื้นที่ในการทำกิจกรรมหรืออีเว้นท์ต่างๆ ของผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น Edu-Zone สำหรับเด็ก หรือ Co-Working Space Zone สำหรับวัยทำงาน หรือแม้แต่การคัดเลือกสินค้าที่มีความหลากหลายและแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะของสินค้า (Niche & Unique) มาจำหน่ายของกลุ่มผู้ประกอบการรายกลางถึงรายเล็ก แต่ด้วยสภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ส่งผลให้คาดว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละกลุ่มจะยังคงเผชิญกับโจทย์ท้าทายที่ต้องรับมือแตกต่างกันออกไป โดยที่การบริหารจัดการสินทรัพย์ (Fixed Asset) ให้สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วและคุ้มค่ามากที่สุด จะยังคงเป็นประเด็นท้าทายต่อเนื่องของบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกในปี 2561 

ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว ผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละกลุ่มจำเป็นต้องเร่งปรับตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจถึงไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมของลูกค้าตนเองให้ได้มากที่สุด ผ่านการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า (Big Data) ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Data Analytics หรือแม้แต่เทคโนโลยี AI และนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ดังกล่าวมาบริหารจัดการและเชื่อมโยงธุรกิจค้าปลีกในแต่ละช่องทาง (Online to Offline: O2O) ทั้งที่เป็นส่วนของค้าปลีกหน้าร้านและออนไลน์ให้เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งท้ายที่สุด ผู้ประกอบการค้าปลีกที่สามารถบริหารจัดการทั้ง 2 ช่องทางได้ดีกว่า ย่อมมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่สูงกว่า


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม