ผู้ประกอบการในประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจการนำเทคโนโลยี CCUS มาใช้ร่วมกับกระบวนการผลิตเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net-Zero โดยเฉพาะกิจการในกลุ่มปิโตรเลียม โรงไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และซีเมนต์ โดยศึกษาแนวทางการกักเก็บ CO2 ในแหล่งขุดเจาะปิโตรเลียมหรือชั้นหินใต้ดินที่มีศักยภาพ และการนำ CO2 มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง CCUS Hub คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 26,500 ล้านบาท
ในต่างประเทศโครงการ CCUS ที่เริ่มดำเนินการแล้วมีปริมาณการดักจับ CO2 ได้ 42.5 ล้านตัน CO2 ต่อปี และปริมาณการดักจับ CO2 ของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและกำลังพัฒนาอีก 199 ล้านตันต่อปี โดยโครงการ CCUS ที่ดำเนินการแล้วส่วนใหญ่อยู่ในประเทศสหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป มีมูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยี CCUS ในปี 2564 จำนวน 2,343 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการลงทุนสะสมระหว่างปี 2561 – 2564 เป็นมูลค่า 7,035 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โรงงานผลิตไฟฟ้า และการขนส่งและกักเก็บ CO2
อย่างไรก็ดี ต้นทุนของเทคโนโลยี CCUS ยังอยู่ในระดับสูง ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และมาตรการภาครัฐอาจยังไม่เพียงพอในการจูงใจ ทำให้แนวโน้มการนำเทคโนโลยี CCUS มาใช้จะค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ หากภาครัฐให้การสนับสนุนเงินทุนและมีการกำหนดราคา CO2 ดังเช่นในต่างประเทศ จะมีส่วนสำคัญช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยี CCUS ในไทย สามารถนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้แพร่หลายมากขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น