Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 มิถุนายน 2564

อุตสาหกรรม

กลไกจัดเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดน (CBA) ของ EU …อีกปัจจัยท้าทายของอุตสาหกรรมส่งออกไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3231)

คะแนนเฉลี่ย

​มีความเป็นไปได้ที่ในปี 2566 EU จะพิจารณาใช้กลไกการจัดการการปล่อยคาร์บอนข้ามแดน Carbon Border Adjustment (CBA) สำหรับสินค้าและบริการข้ามแดนที่มีต้นกำเนิดนอก EU ตามแผน European Green Deal ในระยะแรกการบังคับใช้ CBA น่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าแบบ Sector -based และสินค้าในภาคที่มีการปล่อยคาร์บอนฯ สูงโดยเปรียบเทียบ อาทิ แร่และเชื้อเพลิง เหล็ก โลหะ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง

เมื่อพิจารณาการส่งออกของไทยไป EU (27 ประเทศ ไม่รวมสหราชอาณาจักร) พบว่า ไทยพึ่งพิงการส่งออกไป EU อยู่ที่ประมาณ 10% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย มีสัดส่วนใกล้เคียงกับการส่งออกของประเทศคู่แข่งในอาเซียน อย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของทั้ง 4 ประเทศ ในกลุ่มสินค้าอย่างแร่และเชื้อเพลิง เหล็ก โลหะ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก มีสัดส่วนการส่งออกไป EU ไม่มาก ทำให้อาจไม่ได้รับผลกระทบในระยะแรก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไป EU อาทิ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) น่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนต่อชิ้นของสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและมาเลเซีย กรณีที่มีการบังคับใช้มาตรการ CBA แบบเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีสัดส่วนการส่งออกสินค้า E&E ไป EU น้อยกว่า ทำให้ทั้ง 2 ประเทศอาจมีต้นทุนโดยรวมในการปรับตัวสูงกว่าไทยโดยเปรียบเทียบ

​ถึงแม้การปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีบทบาทมากขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้ธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ก่อนจะสามารถสร้างความได้เปรียบในระยะยาว โดยมีมาตรการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐในการปรับตัวในระยะข้างหน้าไทยจำเป็นต้องขยายการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการขนาดรองลงมา พร้อมทั้งขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น โดยลดความซับซ้อนและต้นทุนในการเข้าร่วม เช่น การส่งเสริมให้ธุรกิจที่ต้องการเข้าร่วมเข้าถึงเงินทุนในการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การจัดให้มีโครงการความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมที่มีศักยภาพกับผู้เข้าร่วมรายใหม่ หรือการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในการลดคาร์บอนฯ เพื่อเตรียมรับมือจากผลกระทบของมาตรการ CBA บางส่วน เนื่องจาก EU อาจพิจารณาชดเชยปริมาณคาร์บอนฯ กรณีที่ประเทศส่งออกมีการพัฒนาระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยคาร์บอน หรือมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวด้ลอมอื่นๆ ได้ และเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนในภาพรวม

 

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม