ในบรรดาผลไม้ส่งออกทั้งหมดของไทยทุเรียนเป็นราชาผลไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่ไทยสูงที่สุด โดยการส่งออกทุเรียนสดมีมูลค่าแซงหน้าผลไม้อื่นๆ มาตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 ทำสถิติรายเดือนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 934.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 95.3 (YoY) รวมแล้วตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ยังคงเร่งตัวร้อยละ 45.2 (%YoY) มีมูลค่า 1,839 ล้านดอลลาร์ฯ ทำให้การส่งออกทุเรียนกลายเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจส่งออกสำคัญในลำดับที่ 2 รองจากยางพารา แซงหน้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมาได้ นอกจากนี้ ในปี 2563 แม้จะประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การส่งออกทุเรียนสดของไทยกลับเติบโตสวนกระแสถึงร้อยละ 41.5 แตะมูลค่ารายปีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,073 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งในระยะข้างหน้ายังมีโอกาสเติบโตทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง
ในปัจจุบันผู้บริโภคในตลาดโลกเปิดใจให้แก่ทุเรียนอย่างชัดเจน สะท้อนโอกาสให้ทุเรียนไทยยิ่งทำตลาดได้ ซึ่งจีนเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกคิดเป็นร้อยละ 70 ของตลาดโลก เมื่อรวมตลาดฮ่องกงที่มีส่วนแบ่งเกือบร้อยละ 20 ทำให้จีนตลาดเดียวก็ครองตลาดทุเรียนไปเกือบทั้งหมด ขณะที่ทุเรียนไทยก็มีศักยภาพสูง โดยไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ทั้งด้านปริมาณและมูลค่าในอันดับ 1 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดโลกขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 75.9 ในปี 2563 ที่ผ่านมา (จากร้อยละ 65.9 ในปี 2562) ซึ่งทุเรียนไทยได้เปรียบตรงที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดส่งออกผลไม้เป็นทุนเดิม ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดจีนทำให้การขนส่งทุเรียนสดถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วในราคาที่ผู้บริโภคเองก็ยอมรับ อีกทั้ง รสชาติทุเรียนไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลกแล้วจึงนับได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานทางด้านรสชาติทุเรียนได้ก่อนชาติอื่น
อย่างไรก็ดี ความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนที่สดใสผลักดันราคาจำหน่ายทุเรียนสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงมีหลายประเทศในอาเซียนให้ความสนใจเข้าแข่งขันในตลาดทุเรียนที่จีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคู่แข่งชาติอาเซียนในตลาดจีน ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้ทุเรียนไทยในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันทุเรียนไทยครองตลาดจีนได้เกือบทั้งหมดถึงร้อยละ 99 ของการนำเข้าทุเรียนของจีนรวมกับฮ่องกง แต่ด้วยปริมาณผลผลิตทุเรียนไทยที่มีจำกัดไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มมาจากพื้นที่ต่างๆ ของจีน ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ด้วย ดังนั้น การเร่งทำตลาดเชิงรุกจึงน่าจะเป็นตัวช่วยให้ทุเรียนไทยทำตลาดได้ต่อเนื่องในอนาคต
ทั้งนี้ ทุเรียนได้รับกระแสตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้นปี 2564 ทุเรียนไทยยังคงทำตลาดได้ดีด้วยจำนวนพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตที่ยังเพิ่มขึ้นได้อีก โดยคาดว่ายอดการส่งออกทุเรียนสดไทยไปตลาดโลกในปี 2564 นี้จะขยายตัวราวร้อยละ 35-40 มีมูลค่าการส่งออกที่ 2,800-2,900 ล้านดอลลาร์ฯ แม้ว่าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านจะเริ่มรุกทำตลาดต่างประเทศเช่นกัน แต่ด้วยกำลังการผลิตยังมีน้อยและกว่าผลผลิตรุ่นใหม่จะเร่งตัวคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี สำหรับในทศวรรษจากนี้ไป ไทยจะต้องเจอการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากคู่แข่งหน้าใหม่ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งระหว่างที่คู่แข่งกำลังเพิ่มผลผลิต เกษตรกรไทยก็ควรเร่งทำการตลาดเชิงรุกเพื่อมัดใจผู้บริโภครายใหม่ก่อนคู่แข่ง โดยเฉพาะการขยายตลาดทุเรียนไปยังมณฑลตอนในของจีน โดยคู่แข่งของไทยเองก็เล็งเห็นโอกาสทำตลาดในส่วนนี้ ทั้งการเร่งเจาะตลาดในรูปแบบอื่นเพื่อยกระดับทุเรียนไทยให้ครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอทุเรียนไทยสายพันธุ์อื่นๆ ให้มีความหลากหลาย พร้อมทั้งทำตลาดผ่านช่องทางสื่อโซเชียลและการค้าแบบ E-commerce รวมทั้งยกระดับทุเรียนไทยให้มีความพรีเมียมตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนการขนส่ง รวมถึงการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นในเอเชียที่คุ้นเคยกับผลไม้ไทยอยู่แล้ว และขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น