Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 กรกฎาคม 2566

บริการ

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery เร่งปรับสมดุลทางธุรกิจต่อเนื่อง ท่ามกลางตลาดสั่งอาหารที่มีโจทย์ท้าทายรออยู่ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3423)

คะแนนเฉลี่ย

        ทิศทางการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก หรือ Food Delivery ที่ชะลอตัวลง หลังจากที่โรคโควิด-19 ไม่มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พักยังคงต้องทำการตลาดอย่างเข้มข้นเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำผลสำรวจแนวโน้มและพฤติกรรมการใช้งานแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พักของผู้บริโภคและพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่า ในระยะข้างหน้า ยังมีการใช้งานแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารต่อเนื่องแต่ความถี่ในการใช้งานลดลงเมื่อเทียบกับในช่วงที่โควิดระบาด เนื่องจากปรับเปลี่ยนมานั่งทานนอกบ้าน ซื้ออาหารกลับไปทานหรือทำเองที่บ้านมากขึ้น รวมถึงไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการสั่งอาหาร ประกอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเช่น ปัญหาอาหารไม่ตรงปกจากร้านอาหาร ปริมาณอาหารที่ได้รับรู้สึกไม่คุ้มกับค่าเงินที่เสียไป ปัญหาความล่าช้าในการส่งอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ การแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พัก มีผลทำให้ผู้ใช้บริการมีการสับเปลี่ยนการใช้แอปฯ เพื่อการเปรียบเทียบราคา ตามโปรโมชั่นหรือสิทธิพิเศษ ทำให้กลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งมีการใช้แอปพลิเคชั่นในการสั่งอาหารอยู่ 2 แอปพลิเคชั่น นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการเห็นแพลตฟอร์มฯ นำเสนอบริการที่ครอบคลุมความต้องการในชีวิตประจำวัน และสามารถตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายได้ในแอปพลิเคชั่นเดียว ซึ่งแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารควรมีร้านอาหารที่มีคุณภาพและทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีระบบการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน และสามารถนำเสนอร้านอาหาร/โปรโมชั่นได้ตรงความต้องการมากที่สุด
        จากผลสำรวจฯ ผนวกกับปัจจัยแวดล้อมของตลาด Food Delivery ที่อยู่ในช่วงของการปรับตัวจากฐานที่เคยเร่งตัวขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 กอปรกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และรายได้ยังไม่กลับมาปกติ ทำให้ผู้บริโภคยังระมัดระวังในการใช้จ่าย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2566 เครื่องชี้ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะยังหดตัวลงจากปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 0.6% จากปี 2565 ขณะที่ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะหดตัวลง 11.3% จากปี 2565

        และในระยะข้างหน้า ธุรกิจ Food Delivery ยังมีโจทย์ท้าทาย จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น และความท้าทายในการจัดหาเงินทุน ผลักดันให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฯ จำเป็นต้องเร่งปรับสมดุลทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเติบโตของแต่ละแพลตฟอร์มคงขึ้นอยู่กับหลายๆ องค์ประกอบโดยเฉพาะความสามารถในการปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างผลกำไร โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ก่อนน่าจะได้เปรียบคู่แข่ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ