Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 พฤษภาคม 2566

เกษตรกรรม

ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มในปี 2566 ย่อลงมาที่ 88-92 บาทต่อกก. หรือลดลง 7.5-11.5% …กดดันเกษตรกรในภาวะที่ต้นทุนการผลิตยังยืนสูง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3408)

คะแนนเฉลี่ย

        ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มในปี 2566 อาจย่อลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 88-92 บาทต่อกก.หรือลดลงร้อยละ 7.5-11.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 99.5 บาทต่อกก. เนื่องจากปัจจัยฉุดด้านอุปทานเป็นหลัก ทั้งจากการนำเข้าที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากแหล่งนำเข้าที่มีผลผลิตสูง และการผลิตสุกรในประเทศที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรบางส่วนจากปัญหาโรค ASF ที่ให้ภาพบรรเทาลงจากที่รุนแรงในปีก่อน สำหรับโจทย์ใหญ่ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องเผชิญคงเป็นเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังยืนสูงโดยเฉพาะต้นทุนอาหารสัตว์ นอกจากนี้ ต้นทุนการจัดการฟาร์มที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันโรค ASF ที่ยังคงมีอยู่ และสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่คงได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่  
        มองไปในช่วงระยะ 2 ปีนี้ ราคาสุกรน่าจะยังยืนสูง ตามอุปทานในประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภาวะปกติที่ไม่มี ASF จากความเสี่ยงของ ASF, Climate Change และต้นทุนการผลิตสูง ทำให้การผลิตคงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่เร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น ในระยะสั้นการนำเข้าจากแหล่งได้มาตรฐานอาจจะยังมีความจำเป็น เพื่อบรรเทาการขาดแคลนสุกร แต่ในอีกทางหนึ่งคงกดดันราคา และจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้มีความยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น การพิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตลอดทั้งสายการผลิตสุกรของไทยนับว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของต้นน้ำที่ควรสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ธุรกิจมามีรายได้ที่คุ้มค่าต่อการผลิตอย่างยั่งยืน รวมไปถึงแนวทางการคุมเข้มโรค ASF ไม่ให้ระบาดซ้ำ ก็นับว่ามีความจำเป็น ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อความเสียหายของผลผลิตสุกร และยังเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารของไทยในระยะข้างหน้าอีกด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม