ในช่วงที่เหลือของปี ธุรกิจร้านอาหาร คาดว่าจะยังมีทิศทางเติบโต โดยเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยว และเทศกาลวันหยุดยาว ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 4.35 แสนล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 7.1 อย่างไรก็ดี การขยายตัวของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารยังไม่ทั่วถึง และผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่ยังเผชิญโจทย์ท้าทาย อาทิ การแข่งขันที่รุนแรงในทุกเซ็กเมนต์และระดับราคา ต้นทุนธุรกิจที่ทรงตัวสูง การขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการสร้างผลกำไรและการยืนระยะในการดำเนินธุรกิจที่ทำได้ยากจากระยะเวลาการคืนทุนที่นานขึ้นด้วย สะท้อนให้เห็นจากสัดส่วนร้านอาหารที่สามารถยืนระยะอยู่รอดมากกว่า 3 ปีหลังการเปิดขาย มีเพียงแค่ร้อยละ 35 จากร้านอาหารเปิดใหม่ทั้งหมด (ข้อมูล LINE MAN Wongnai) ทั้งนี้ ไปข้างหน้า ร้านอาหารที่น่าจะเจอความท้าทาย ได้แก่ กลุ่ม Casual Dining เนื่องจากจำนวนผู้เล่นมีความหนาแน่นสูงในเซ็กเมนต์นี้ และกลุ่ม Quick Service Restaurant ที่เผชิญกับโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับต้นทุนการทำธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบที่อาจผันผวนจากเอลนีโญ (ต้นทุนวัตถุดิบมีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 35 ของต้นทุนทั้งหมด) ดังนั้น การจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพจึงยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ร้านอาหารน่าจะทำเพิ่มได้ คือ การจัดการต้นทุนที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้ง ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 4-10 จากวัตถุดิบทั้งหมด ซึ่งหากทำได้ นอกจากจะช่วยปรับลดต้นทุนแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพบว่า ธุรกิจการให้บริการด้านอาหารได้ก่อให้เกิดอาหารเหลือทิ้งทั่วโลกประมาณ 244 ล้านตันต่อปี และมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 8-10
โดยผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถส่วนช่วยลดของเสียผ่านกระบวนการบริหารจัดการวัตถุดิบและการปรุงอาหารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสต็อก เช่น ระบบ POS การจัดโปรโมชั่นลดราคาสำหรับอาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวัน โดยขายผ่านทั้งช่องทางหน้าร้านและแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร การจัดโครงการ CSR ในการเพิ่มประโยชน์จากอาหารเหลือ เช่น การบริจาคอาหารที่เหลือเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ การนำไปใช้ผลิตก๊าซชีวภาพหรือนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการเกษตร การสร้างสรรค์เมนูให้มีความหลากหลายของขนาดอาหารให้ลูกค้าเป็นทางเลือกในการสั่ง เป็นต้น ซึ่งบางอย่างหลายร้านอาหารน่าจะทำอยู่แล้ว แต่อาจจะพิจารณาปรับแนวทางการทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น