วันพืชมงคล นับเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นฤดูฝนและการเพาะปลูกข้าวนาปีของไทย โดยราคาข้าวที่ยืนสูง จะจูงใจให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าว แม้จะเผชิญต้นทุนการผลิตที่สูง อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นข้าวต้องการน้ำมากขึ้นหลังจากเริ่มปลูกในเดือนพ.ค.จนกระทั่งเก็บเกี่ยว อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปี โดยคาดว่า หากเอลนีโญไม่รุนแรงนัก ผลผลิตข้าวนาปีในปี 2566 อาจลดลงราวร้อยละ 4.1-6.0 หรือคิดเป็น 25.1-25.6 ล้านตัน เมื่อรวมกับผลผลิตข้าวนาปรังที่ 7.6 ล้านตัน ก็น่าจะเป็นผลผลิตข้าวรวมที่ยังเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและการส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ดี หากเกิดภาวะแล้งจัด หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปีเสียหายมากขึ้น และอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศให้ต่ำกว่ากรอบที่ประเมินไว้
มองต่อไปในปี 2567 ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนที่สะสมมาในช่วงปลายปี 2566 ให้ลดลง ซึ่งเป็นน้ำเพื่อใช้สำหรับปลูกข้าวนาปรังในปี 2567 ประกอบกับการคาดการณ์ว่าเอลนีโญน่าจะกินระยะเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงที่ทั้งผลผลิตข้าวนาปรังและนาปีของไทยในปี 2567 คงจะลดลง ดังนั้น การวางแผนบริหารจัดการน้ำ จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ท่ามกลางความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรที่มีมากขึ้นในระยะข้างหน้า
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น