Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 กันยายน 2562

อุตสาหกรรม

การก้าวเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานโลกของประเทศเพื่อนบ้าน...จับตาอนาคตอุตสาหกรรมไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3032)

คะแนนเฉลี่ย

          ไทยมีแนวโน้มที่จะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันและถูกแทนที่ด้วยประเทศเกิดใหม่ เช่น เวียดนาม เนื่องจากไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านต้นทุนค่าแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่อุตสาหกรรมที่ไทยยังคงรักษาความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ก็มีแนวโน้มที่จะเผชิญความท้าทายมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นกับประเทศเกิดใหม่ต่างๆ

            ทั้งนี้ เนื่องจากระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันของไทยและเวียดนาม โดยอุตสาหกรรมของเวียดนามถือว่าอยู่ในระยะแรกเริ่ม ขณะที่อุตสาหกรรมของไทยพัฒนามาเป็นระยะเวลานานจนค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น อุตสาหกรรมในเวียดนามจึงเติบโตในอัตราที่รวดเร็วกว่า โดยการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคการผลิตและภาคการส่งออกของเวียดนามถูกขับเคลื่อนด้วยต้นทุนค่าแรงที่ต่ำเป็นหลัก ซึ่งไทยคงไม่สามารถกลับไปแข่งขันด้วยปัจจัยค่าแรงได้ อย่างไรก็ดี ไทยมีข้อได้เปรียบเหนือเวียดนามในด้านความพร้อมทางเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีกทั้งมีความสามารถในการผลิตสินค้าที่ซับซ้อนได้ดีกว่าเวียดนาม ในขณะที่ห่วงโซ่การผลิตของเวียดนามยังไม่สามารถยกระดับมูลค่าเพิ่มได้เท่าที่ควรและไม่แข็งแกร่งเท่าใดนัก

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลยุทธ์ที่ไทยควรดำเนินต่อไปในอนาคตคือไทยควรมุ่งเน้นยกระดับตนเองและเพิ่มศักยภาพการผลิตในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อให้ไทยยังสามารถแข่งขันในเวทีโลกและทิ้งห่างเวียดนามได้ อีกทั้งไทยควรเร่งปิดช่องว่างในเรื่องแรงงานทักษะสูงและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ  รวมถึงเร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ซึ่งหากไทยไม่สามารถยกระดับตนเองได้เท่าที่ควร ไทยก็อาจจะติดกับดักอยู่ที่เดิม และเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นกับเวียดนามและประเทศเกิดใหม่อื่นๆ  ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการผลิตและภาคการส่งออกของไทยชะลอตัวลงไปเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะติดกับดักอยู่ในอัตราการขยายตัวที่ต่ำต่อไป

​​