Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ตุลาคม 2562

การค้า

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP: แรงกดดันระลอกใหม่ ... ธุรกิจไทยจำเป็นต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนต่อจากนี้ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3047)

คะแนนเฉลี่ย

​            การที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไปหรือ GSP (Generalized System of Preferences) ที่ให้แก่ไทยรวม 573 รายการ มีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยจะมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้าหรือวันที่ 25 เมษายน 2563 ซึ่งสินค้าที่ถูกตัดสิทธิหรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าสินค้าไทยที่ได้สิทธิ GSP จากสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ารวม 4.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกในภาพรวม 30 รายการแรก ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ (เรียงลำดับ HS Code 8 หลัก) รวมแล้วมีสัดส่วนร้อยละ 53.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2561 ในจำนวนดังกล่าวมีสินค้าที่ได้สิทธิ GSP เพียง 4 รายการ อีกทั้งสินค้าเหล่านี้ยังไม่ถูกตัดสิทธิยิ่งชี้ว่าการตัดสิทธิ GSP บางรายการดังกล่าว แทบไม่มีผลต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ

            หากทางการสหรัฐฯ ไม่มีการผ่อนผันใดๆ ให้กับสินค้าไทยและยังเดินหน้าตัดสิทธิ GSP ตามรายการดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องคงต้องเผชิญอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ในอัตรา MFN โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจไทยนั้นคงอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เผชิญอัตราภาษีไม่สูงและสินค้าไทยค่อนข้างแข็งแกร่งในตลาดสหรัฐฯ แต่ก็น่าจะทำให้ไทยเผชิญความท้าทายในการทำตลาดในสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภทหลอดไส้ (ที่ไม่ใช้ไฟฟ้า) แว่นตา ตัวจุดระเบิดไฟฟ้า อาหารแปรรูปบางประเภทและอ่างสุขภัณฑ์เซรามิก ขณะที่ในบางสินค้าที่มีความเสี่ยงสูญเสียตลาดสหรัฐฯ เป็นการถาวร เนื่องจากผลทางภาษีที่เปลี่ยนไปอย่างมากและความสามารถในการทำตลาดของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อาทิ เครื่องประดับบางประเภท ตะกั่วและเคมีภัณฑ์ ผู้ประกอบการคงต้องเตรียมความพร้อมรับมืออย่างมากก่อนจะถึงวันที่ 25 เมษายน 2563 ดังนั้น โจทย์สำคัญของไทยคงไม่ได้อยู่ที่การรักษาสิทธิ GSP หรือสิทธิพิเศษทางการค้ากับนานาชาติเท่านั้น แต่ควรพุ่งเป้าไปที่การยกระดับสินค้าไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลก

             จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วผลจากการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยบางรายการ ไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ แต่ด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า รวมถึงความอ่อนไหวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อันเป็นผลสืบเนื่องของสงครามการค้า ประกอบกับความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งผลกระทบต่อความท้าทายด้านการส่งออกในระยะต่อไป ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ว่าในปี 2562 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อาจจบปีด้วยมูลค่าที่เติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0 หลังจากที่ 9 เดือนแรกเติบโตร้อยละ 14.1 (YoY) แต่สำหรับปี 2563 ด้วยผลของฐานการส่งออกในปี 2562 ที่สูง ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความซบเซาของการค้าและทิศทางค่าเงิน จะเป็นปัจจัยหลักที่ให้ภาพการส่งออกในปี 2563 ไม่สดใสเท่าที่ควร ขณะที่การถูกตัดสิทธิ GSP ในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบในวงจำกัด

​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม