Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 ธันวาคม 2562

บริการ

โรงพยาบาลเอกชนปี 2563 หลายปัจจัยกดดันการทำกำไร ... แนะกระจายความเสี่ยงจากการสร้างรายได้ผ่าน Non-hospital (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3066)

คะแนนเฉลี่ย

​          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2563 ภาพรวมกำไรสุทธิของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) น่าจะเติบโตร้อยละ 3-6 ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่คาดว่าจะโตร้อยละ 6-9 โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้กำลังซื้อปานกลางถึงสูง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยจำนวนคู่แข่งทยอยเพิ่มขึ้น แต่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม จึงกดดันการเติบโตของรายได้ให้ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ยังคงมีต่อเนื่องจากการปรับตัวของผู้ประกอบการ เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์ การลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและบริการเฉพาะทางที่สร้างความแตกต่าง หรือแม้แต่การเสนอส่วนลดสำหรับคนไข้บางกลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะมาตรการควบคุมราคาสินค้ายา เวชภัณฑ์และการบริการทางการแพทย์ ที่น่าจะกดดันการทำกำไรของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแตกต่างกันไปในแต่ละราย โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกจัดอยู่ในเกณฑ์ที่จำหน่ายราคายาสูง อาจจะมีผลต่อการทำกำไรมากกว่าโรงพยาบาลที่จำหน่ายยาในราคาปานกลางถึงต่ำ หากต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบรับกับมาตรการฯ ของภาครัฐ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการประเมินผลกระทบเบื้องต้น พบว่า ผลจากมาตรการควบคุมราคายา น่าจะทำให้รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนโดยรวมเฉลี่ยลดลงราวร้อยละ 1.0-2.0 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ ควบคุม

             ​อย่างไรก็ดี มองว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งน่าจะยังมีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2563 โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ในทำเลที่ยังไม่มีคู่แข่ง และเน้นเจาะกลุ่มคนไข้ที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลของรัฐ ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว คนไข้ที่ไม่มีประกันสุขภาพเอกชนและต้องจ่ายเงินสด น่าจะหันมาเลือกใช้บริการผ่านสิทธิของรัฐมากขึ้น และหากในปี 2563 มีการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลต่อหัวของประกันสังคม ก็น่าจะช่วยหนุนรายได้และทำให้กำไรของธุรกิจโรงพยาบาลกลุ่มนี้ยังคงเพิ่มขึ้น

ในระยะข้างหน้า เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการสร้างรายได้และทำกำไรของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกจากจะมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนด้านต่างๆ รวมถึงการรักษาคุณภาพของการให้บริการแล้ว ผู้ประกอบการควรปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ามาเสริมนอกเหนือไปจากรายได้หลักที่เป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งธุรกิจในกลุ่ม Non-hospital เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ธุรกิจร้านขายยา (Pharmacy) รวมถึงความร่วมมือทางธุรกิจกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ในการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพมากขึ้น หรือแม้แต่การร่วมมือกับผู้ผลิตอาหาร ในการดูแลโภชนาการด้านอาหารภายในโรงพยาบาล เป็นต้น


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


บริการ