Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 มีนาคม 2563

บริการ

ธุรกิจร้านอาหารปี 2563 ได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 คาดรายได้หายไป 2.65 – 3.65 หมื่นล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3090)

คะแนนเฉลี่ย


          จากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อหลายๆอุตสาหกรรม โดยธุรกิจร้านอาหาร เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากการชะลอตัวของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านการบริโภคอาหารที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย (1.93 ล้านล้านบาทในปี 2562)
         นอกจากนี้ผลกระทบจากความกังวลต่อการแพร่ระบาด กอปรกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ได้ส่งผลต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศที่น่าจะมีการปรับพฤติกรรม โดยหลีกเลี่ยงการไปนั่งรับประทานอาหารในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง อาทิ ในห้างสรรพสินค้า และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในการออกมาทานอาหารนอกบ้านอีกด้วย
         ทั้งนี้ ไวรัส Covid-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของร้านอาหารแต่ละประเภทในระดับที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งกลุ่มเบื้องต้นได้เป็น 1. กลุ่มร้านอาหารที่น่าจะได้รับผลกระทบสูง เช่น ร้านอาหารที่มีการให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant) ซึ่งเน้นการสร้างยอดขายจากการนั่งรับประทานในร้าน ทั้งในห้างสรรพสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวมากที่สุด เพราะไม่เพียงแต่จะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง แต่ยังพบกับความท้าทายของผู้บริโภคภายในประเทศที่หลีกเลี่ยงการกินเลี้ยงสังสรรค์อีกด้วย  2. กลุ่มร้านอาหารที่น่าจะได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น ร้านอาหารที่มีการให้บริการอย่างจำกัด (Limited Service Restaurant)  รวมถึงร้านอาหารที่มีการกระจายรายได้จากช่องทาง Food Delivery ถึงแม้ในช่วงครึ่งปีแรกจะได้รับผลกระทบจากยอดขายหน้าร้านเช่นเดียวกับกลุ่มแรก แต่จากการที่มีการกระจายช่องทางการขายผ่านการจัดส่งสินค้าไปยังที่พัก (Food Delivery) ทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงของรายได้และช่วยลดผลกระทบของยอดขายได้บางส่วน 3.กลุ่มร้านอาหารที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น เช่น ร้านอาหารที่มีสัดส่วนรายได้จากช่องทาง Food Delivery สูง หรือ ร้านอาหารข้างทางที่สามารถซื้อกลับบ้าน (Take away) เนื่องจากร้านอาหารในกลุ่มนี้มีช่องทางการขายสินค้าที่หลากหลายทำให้อาจสามารถจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าร้านอาหารในกลุ่มอื่น นอกจากนี้ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจก็อาจส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศบางส่วนเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาทานอาหารในร้านอาหารกลุ่มนี้ที่มีราคาย่อมเยากว่า
           อย่างไรก็ดีเพื่อสร้างโอกาสและลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวผู้ประกอบการอาจปรับตัวโดย 1.เพิ่มช่องทางการขายโดยขายอาหารประเภทที่สามารถซื้อกลับบ้านได้ (Take away) หรือมีบริการจัดส่ง (Food Delivery) หรือหากร้านอาหารตั้งอยู่ในเขตที่ใกล้กับแหล่งทำงานหรือที่พักอาศัยอาจเลือกมีบริการจัดส่งให้กับลูกค้าที่สั่งอาหารเป็นกลุ่ม โดยอาจปรับระบบการทำงานของพนักงานบางส่วนและเสนอเมนูอาหารที่ราคาย่อมเยาและคุ้มค่าสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านกำลังซื้อที่อ่อนแอลง 2.จัดตารางทำความสะอาดร้านและอุปกรณ์ต่างๆเพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงการยกระดับความสะอาดในร้าน 3.บริหารจัดการต้นทุนโดยอาจเลือกลดการสต็อคสินค้าบางประเภทเพื่อรักษากระแสเงินสดไว้
         กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2563 ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารอาจต้องพบกับปัจจัยท้าทายที่เพิ่มขึ้น ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งกระทบต่อรายได้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่หายไป แต่ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ดีหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสและสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ก็น่าจะช่วยให้แรงกดดันต่อธุรกิจร้านอาหารมีการผ่อนคลายลงบ้าง ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการรายได้ของธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 ลงเหลือ 4.02 – 4.12 แสนล้านบาท (จากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปี 2563 มูลค่า 4.39 แสนล้านบาท) หรือลดลง 2.65 - 3.65 หมื่นล้านบาท

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม