Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มิถุนายน 2563

ท่องเที่ยว

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หลังการคลายล็อก หนุนคนไทยเที่ยวในประเทศ … คาดสร้างรายได้เพิ่มราว 41,000 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3118)

คะแนนเฉลี่ย

       สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ดีขึ้น จนหน่วยงานภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางข้ามจังหวัด ระบบการคมนาคมขนส่ง ท่าอากาศยาน และสถานที่ท่องเที่ยวก็กลับมาให้บริการได้ตามปกติ และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศผ่าน 3 โครงการ โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563[1] ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมาตรการฯ ดังกล่าวมีการออกแบบที่จะช่วยเหลือให้ครอบคลุมผู้ประกอบการในห่วงโซ่ของภาคการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจท้องถิ่นอย่างร้านขายของที่ระลึก หรือร้านอาหาร เป็นต้น อีกทั้งยังน่าจะมีผลทางจิตวิทยากระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและก่อให้เกิดการใช้จ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลทางบวกเพิ่มเติมต่อทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากเดิมที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดการท่องเที่ยวของคนไทยเที่ยวในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรกอยู่แล้ว หากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลาย

            เหตุผลที่สนับสนุนมุมมองข้างต้น ส่วนหนึ่งสะท้อนจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า ผู้ตอบแบบถามราว 47.7% มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่าง 60.1% มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือน (หลังการคลายล็อก) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลของมาตรการภาครัฐ น่าจะทำให้คนไทยตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และสร้างเม็ดเงินรายได้ส่วนเพิ่มในตลาดไทยเที่ยวไทยอีกราว 41,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ

ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงในไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า ทั้งปี 2563 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะอยู่ที่ 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัว 46.4% ถึงหดตัว 45.2% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้จากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 5.45-5.67 แสนล้านบาท หรือหดตัว 49.5% ถึงหดตัว 47.5% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ดีกว่าที่เคยประเมินไว้

[1] ได้แก่ 1. โครงการ กำลังใจ รัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 1,200,000 คน ให้เดินทางโดยการใช้บริการกับบริษัทนำเที่ยว โดยรัฐจะสนับสนุนไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทางไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน 2. โครงการ เที่ยวปันสุข รัฐบาลสนับสนุนการเดินทางของประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน โดยการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งด้านการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ได้แก่ สายการบินในประเทศไทย รถขนส่งไม่ประจำทางข้ามจังหวัด และรถเช่าในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 1,000 บาท และ 3. โครงการ เราไปเที่ยวกัน รัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) จำนวน 5,000,000 คืน ในอัตราร้อยละ 40 ของค่าห้องพักแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการมูลค่า 600 บาทต่อห้องต่อคืน โดยจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดในทะเบียนบ้านของประชาชนผู้จองที่พัก

​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม