Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤศจิกายน 2565

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ผลการเลือกตั้งกลางเทอมส่งผลต่อการผ่านร่างกฎหมายในสภาคองเกรส ... แต่ไม่เปลี่ยนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2566 ที่ยากจะเลี่ยงภาวะถดถอย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3357)

คะแนนเฉลี่ย

​การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมานั้น ผลการนับคะแนนในเบื้องต้นพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มสูงที่จะครองสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่วุฒิสภายังมีคะแนนสูสี และแม้ว่าผลการเลือกตั้งกลางเทอมอย่างเป็นทางการหลังวันที่ 6 ธ.ค. 2565 จะออกมาว่าพรรคเดโมแครตจะยังได้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้หรือไม่จากผลคะแนนตัดสินที่เหลืออีก 4 ที่นั่ง (ผลการนับคะแนน ณ วันที่ 10 พ.ย. 2565 ทั้ง 2 พรรคมีคะแนนเท่ากันที่ 48:48)  แต่การที่พรรคเดโมแครตสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ ส่งผลต่อการบริหารงานของนายโจ ไบเดนในอีก 2 ปีข้างหน้า

•    ผลคะแนนเสียงของพรรครีพับลิกันที่ชนะไม่ขาดในสภาผู้แทนราษฏร และคะแนนเสียงในสภาสูงของพรรคเดโมแครตก็สูสีจึงเป็นอุปสรรคในการผ่านร่างกฎหมายสำคัญของทั้งสองพรรค แม้พรรครีพับลิกันจะสามารถผลักดันกฎหมายผ่านสภาคองเกรสได้สำเร็จ แต่ในท้ายที่สุดด้วยกลไกทางการเมืองสหรัฐฯ เปิดทางให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีสิทธิคว่ำหรือใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) ร่างกฎหมายของอีกฝ่ายได้ และถ้าหากสภายังยืนยันจะผ่านร่างกฏหมายดังกล่าวให้ได้จะต้องมีเสียงสนับสนุนจากทั้งสองสภาถึง 2 ใน 3 ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันไม่น่าจะเป็นไปได้ ขณะที่ในฝั่งเดโมแครตแม้ครองสภาสูงได้สำเร็จแต่ในทางปฏิบัติ ร่างกฎหมายที่นำเสนอต่อสภาคงถูกพรรครีพับลิกันขัดขวางตั้งแต่สภาล่างอยู่ดี

•    “การขยายเพดานหนี้” เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองของรีพับลิกัน เป็นโจทย์หินที่รัฐบาลต้องเตรียมแผนเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้และป้องกันรัฐบาลปิดตัว (Government shutdown) ด้วยจุดยืนที่ต่างกันมีความเป็นไปได้ที่การเจรจาจะยืดเยื้อเลยกำหนดเวลาการขยายหนี้ ส่งผลต่อการดำเนินงานของภาครัฐที่ต้องหยุดชะงักเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ในรอบนี้คงใช้เวลาไม่นานเพราะทั้งสองฝ่ายคงไม่อยากเสียคะแนนนิยมจากฐานเสียงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ต้องได้รับผลกระทบดังกล่าว ในท้ายที่สุดรัฐบาลคงต้องยอมปรับลดรายจ่ายบางรายการเพื่อให้เพดานหนี้อยู่ในกรอบที่พรรครีพับลิกันจำกัดไว้

•    คะแนนนิยมจากประชาชนชาวอเมริกันเป็นตัวกำหนดเส้นทางนโยบายในช่วง 2 ปีหลังจากนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็เร่งผลักดันนโยบายที่จะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2567 โดยรีพับลิกันคงใช้แต้มต่อในสภาล่างเดินหน้าขัดขวางนโยบายของนายโจ ไบเดน บั่นทอนคะแนนนิยมของของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม นอกจากนี้ พรรครีพับลิกันยังจะเดินหน้าผลักดันแผนงานประชานิยมในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเพื่อเพิ่มฐานเสียงในระยะข้างหน้า

•    นโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ จะไม่เปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะท่าทีที่มีต่อจีนไม่เปลี่ยนไปจากเดิม สำหรับงบประมาณทางการทหารและเงินช่วยเหลือยูเครนแม้พรรครีพับลิกันจะมีแผนปรับลดงบประมาณด้านนี้แต่คงกดดันรัฐบาลเพียงในระดับที่จำเป็น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งคงไม่เปลี่ยนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะสั้นที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของเฟด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐฯ คงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ขณะที่ทั้งปีคาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ขยายตัวจากปีก่อนหน้า กดดันการค้าโลกรวมถึงการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่คาดว่า เติบโตเชื่องช้าลงเหลือเลขหลักเดียวที่ 1.1% โดยมีมูลค่าส่งออกราว 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม