Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 มีนาคม 2561

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จับตาข้อพิพาททางการค้าโลกของสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป จีน ฯลฯ ไทยต้องพร้อมรับความผันผวนนี้(กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2905)

คะแนนเฉลี่ย
​​​สหรัฐฯ เดินเกมกดดันทางการค้ากับนานาชาติต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้มาตรการ Safeguard กับสินค้าแผงโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่เมื่อต้นปี 2561 ตามมาด้วยสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม และล่าสุดสหรัฐฯ ยังเตรียมที่จะกีดกันการนำเข้าเพิ่มเติมกับสินค้าจีนที่มีข่าวว่ามูลค่ารวมสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เหตุการณ์เหล่านี้ทวีแรงกดดันทางการค้าโลกอย่างน่าจับตา โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องรอดูท่าทีการเจรจาต่อรอผลประโยชน์ โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับ EU ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเศรษฐกิจหลักในโลกที่คาดว่ารายละเอียดน่าจะเปิดเผยออกมาได้ก่อนที่มาตรการ Safeguard สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจะบังคับใช้ในปลายสัปดาห์หน้า ถ้าหากสหรัฐฯ ยกเว้นภาษีให้แก่ EU และจีน ก็อาจจะช่วยคลี่คลายแรงกดดันทางการค้าโลกในระยะต่อไปได้บางส่วน แต่ถ้าหากสหรัฐฯ ไม่มีข้อผ่อนผันให้แก่คู่กรณีทั้งสอง และยังเดินหน้าบังคับใช้มาตรการใหม่กับจีน หรือแม้กระทั่ง EU จนนำไปสู่การที่ทั้งจีนและ EU ประกาศใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐฯ เช่นกัน และเกิดการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันในรอบต่อๆ ไปอีก มูลค่าความเสียหายจากข้อพิพาททางการค้าคงจะลุกลามไปทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ธุรกิจไทยไม่ใช่เป้าหมายหลักของสหรัฐฯ โดยตรง จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากนัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงมุมมองการส่งออกของไทยไปตลาดโลกว่าอาจจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2561 โดยจะรอประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งมีประเด็นหลักที่ต้องพิจารณา ดังนี้

ผลกระทบทางตรงจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่บิดเบือนไป อาจกระทบการส่งออกของไทยไปตลาดโลกคลาดเคลื่อนจากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองไว้ ผ่านแรงกดดันด้านการส่งออกของแต่ละประเทศในกลุ่มสินค้าที่อยู่ในรายการกีดกันปรับลดลง ถ้าหากเกิดการตอบโต้ในมูลค่าสินค้าและปริมาณที่มากขึ้น ผลที่เกิดคงเกี่ยวโยงมาสู่กิจกรรมการผลิตและการจ้างงานกับประเทศที่เป็นคู่กรณีของสหรัฐฯ ทั้งสิ้น

ผลกระทบทางอ้อมต่อธุรกิจไทยที่ในเวลานี้ต้องเตรียมแผนงานทั้งเชิงรุกและตั้งรับกับความผันผวนทางการค้าที่อาจจะครอบคลุมหลายประเทศทั่วโลก โดยสินค้าที่เป็นประเด็นกีดกันทางการค้าจะประสบปัญหาล้นตลาดและพร้อมที่จะระบายไปสู่ตลาดอื่น ซึ่งการที่จะป้องกันการหลั่งไหลของสินค้าต่างชาติมายังไทยด้วยการใช้มาตรการ AD/CVD ก็คงต้องใช้เวลาจึงจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ธุรกิจไทยควรต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อต้านทางกับสถานการณ์นี้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ สินค้าไทยบางรายการอาจมีโอกาสที่จะแทรกตัวเข้าไปทำตลาดในประเทศคู่กรณี โดยได้อานิสงส์จากข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ EU และจีน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสินค้าไทยว่าจะสามารถทดแทนกันได้หรือไม่ กำลังการผลิตของไทยสามารถตอบรับความต้องการได้แค่ไหน และต้นทุนค่าขนส่งจากไทยไปยังประเทศปลายทางคุ้มค่าที่จะทำหรือไม่

นอกจากนี้ อีกความท้าทายสำคัญของการผลิตไทยคือ สินค้าไทยบางรายการไม่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของประเทศที่มีข้อพิพาททั้งสหรัฐฯ EU และจีน จึงเป็นการยากที่สินค้าไทยจะแทรกตัวเข้าไปทำตลาดแทนสินค้าชาติที่ถูกกีดกัน ซึ่งทำให้ไทยแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากเกมการค้านี้เลย นอกจากนี้ หากการตอบโต้ทางการค้ายังดำเนินต่อไปจนครอบคลุมสินค้าหลายรายการมากขึ้น คงยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบในวงกว้างที่ท้ายที่สุดก็อาจกระทบต่อธุรกิจไทยในระยะต่อไป​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ