ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ
1.50-1.75% ในการประชุมรอบสามของปีนี้ เพื่อรอประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ตลอดจนความเสี่ยงจากประเด็นข้อพิพาทการค้า โดยภายใต้สถานการณ์ที่สหรัฐฯ
มีความพยายามที่จะปรับลดการขาดดุลการค้ากับหลายๆ ประเทศ อาจส่งผลให้โอกาสที่สหรัฐฯ
จะขยายการเก็บภาษีนำเข้าสินค้ารายการอื่นๆ เพิ่มเติม
โดยเฉพาะการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่อาจจะมีผลบังคับใช้ในปลายเดือนพฤษภาคม 2561 หากการเจรจาในการปรับลดการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่ได้ข้อยุติ
ซึ่งประเด็นดังกล่าว อาจจะส่งผลให้พัฒนาการของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ
อาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว อันคงเป็นปัจจัยที่เฟดคงจับตามองอย่างใกล้ชิด
ปัจจัยที่ต้องติดตามคงได้แก่
การประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561
ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลให้มีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ ทั้งนี้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10
ปีปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ระดับ 3.0% โดยปรับตัวขึ้นประมาณ 0.7% จากช่วงต้นปี 2561 อันสะท้อนมุมมองที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสที่จะปรับขึ้นมากกว่า
3 ครั้งในปีนี้
อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้น
อาจจะเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก อันอาจจะสร้างความผันผวนรอบใหม่ให้กับตลาดการเงิน ตลอดจน
กดดันให้ต้นทุนทางการเงินทั่วโลกมีโอกาสที่จะทยอยปรับตัวขึ้นตาม
สำหรับผลต่อประเทศไทย
ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ
ที่กว้างขึ้นส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ทำให้มีเงินทุนบางส่วนไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร
และมีส่วนช่วยให้ค่าเงินบาททยอยปรับอ่อนค่าลง ทั้งนี้
ต้นทุนทางการเงินของไทยโดยเฉพาะการระดมทุนในตลาดทุนอาจจะมีต้นทุนที่ทยอยขยับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัจจัยที่อาจะสร้างความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายคงมีมากขึ้นในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศน่าจะยังสามารถทรงตัวในระดับปัจจุบัน
ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่คงจะทรงตัวอีกระยะ ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องมีการวางแผนในการระดมเงินทุน
หรือมีการปรับโครงสร้างของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ให้มีระยะเวลายาวนานขึ้น
เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินในช่วงที่ต้นทุนในการระดมทุนยังคงอยู่ในระดับต่ำ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น