Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 มีนาคม 2566

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ปัญหาแบงก์ในสหรัฐฯ ล้ม...กระทบไทยจำกัด แต่ตลาดเงินยังผันผวนอีกระยะ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3385)

คะแนนเฉลี่ย

        เป็นที่แน่นอนว่า ปัญหาของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ รอบนี้ไม่มีสถานการณ์ Too Big to Fail เกิดขึ้น เพราะมีการปิดตัวลงจริงของสถาบันการเงินที่เผชิญปัญหา ขณะหน่วยงานของทางการสหรัฐฯ และธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งออกมาตรการมุ่งเป้าดูแลในส่วนของผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ยังดำเนินการอยู่เพื่อสกัดไม่ให้ผลกระทบขยายวงจนกลายเป็นชนวนให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ โดยในส่วนของมาตรการดูแลผู้ฝากเงินนั้น ได้มีการคลายข้อจำกัดด้านการคุ้มครอง โดยทางการสหรัฐฯ มองว่า ปัญหาของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank สามารถเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบได้ เลยให้ผู้ฝากเงินทุกรายสามารถเข้าถึงเงินฝากของตัวเองได้นับตั้งแต่วันจันทร์ 13 มี.ค. 2566 ขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ผ่อนปรนเกณฑ์เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน ได้แก่ 1)    การตั้ง Bank Term Funding Program (BTFP) เพื่อทำการปล่อยเงินกู้แบบมีหลักประกันอายุไม่เกิน 1 ปีให้กับธนาคาร และสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาด้านสภาพคล่อง และ/หรือจากเงินฝากไหลออก  และ 2) อาจจะมีการปรับลดเงื่อนไขของ Discount Window ซึ่งเป็นช่องทางการกู้เงินของสถาบันการเงินจากเฟด  
        ทั้งนี้ แม้จะมีมาตรการจากทางการสหรัฐฯ ออกมาเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน สกัดความเสี่ยงเชิงระบบ และดูแลความเพียงพอด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงต้องติดตามความชัดเจนว่าปัญหาแบงก์สหรัฐฯ ในรอบนี้จะลงลึกแค่ไหน และสถานการณ์ในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไรอย่างใกล้ชิด เพราะมาตรการของทางการดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนความสามารถในการทำกำไรของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง และไม่สามารถรับประกันได้โดยสมบูรณ์ว่าจะไม่มีสถาบันการเงินไหนที่สะท้อนความอ่อนแอออกมาอีกท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น  
        สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผลทางอ้อมน่าจะส่งผ่านมาทางความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน ขณะที่ผลทางตรงน่าจะค่อนข้างจำกัด เพราะคาดว่าแบงก์ไทยน่าจะมี Exposure ทางตรงกับแบงก์สหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาน้อยมาก หรือไม่มีเลย ประกอบกับโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์และเงินฝากของแบงก์ไทยมีการกระจายตัว และมีการทยอยปรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้เพื่อลดผลกระทบจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นตั้งแต่ในปี 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ แบงก์ไทยมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงเกินเกณฑ์ และมีอัตราส่วนเงินกองทุนฯ ที่สูงและเข้มแข็งกว่าแบงก์ในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ