Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 มีนาคม 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3914)

คะแนนเฉลี่ย

​                ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 16-17 มี.ค. นี้ โดยแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับใกล้ศูนย์ รวมถึงยังคงวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะไม่เพิ่มสูงขึ้นไปเกิน 2.0% อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เฟดยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบถอนนโยบายกระตุ้นทางการเงินเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะมีการแถลงประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าเฟดจะปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 ดีขึ้น และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฟดน่าจะมีท่าทีระมัดระวังในการสื่อสาร เพื่อไม่ให้ตลาดคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วเกินไป ซึ่งในประมาณการการปรับดอกเบี้ยของเฟด (Fed Dot Plot) น่าจะยังไม่บ่งชี้ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

        นอกจากนี้ แม้ตลาดจะมีมุมมองว่าเฟดอาจใช้มาตรการเพิ่มการถือครองพันธบัตรระยะยาวและลดการถือครองพันธบัตรระยะสั้น (Operation Twist) หรือใช้มาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield curve control) ในระยะข้างหน้า เพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดน่าจะคอยติดตามสถานการณ์โดยชั่งน้ำน้ำหนักถึงข้อดี-ข้อเสียของการนำมาตรการทางเลือกดังกล่าวมาใช้ ในขณะเดียวกันเฟดน่าจะเลือกใช้วิธีการสื่อสารให้ตลาดคลายกังวลว่าแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแต่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

        สำหรับผลกระทบต่อไทย การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมนั้นเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะต้องคอยติดตามสถานการณ์และพิจารณาออกมาตรการที่เหมาะสมต่อไปในระยะข้างหน้า​


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ