Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 กรกฎาคม 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

Global Minimum Tax เปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติทั่วโลก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3240)

คะแนนเฉลี่ย
           130 ประเทศทั่วโลกได้เห็นพ้องกันในการปฏิรูประบบภาษีโลกครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะช่วยแก้ปัญหาบริษัทข้ามชาติหลบเลี่ยงภาษีได้มากขึ้น โดยมีสาระสำคัญอยู่ 2 ประเด็นคือ การกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) และการจัดสรรรายได้ภาษีของบริษัทข้ามชาติที่ให้บริการดิจิทัลในรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น
ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งใน 130 ประเทศที่เข้าร่วมการปฏิรูประบบภาษีโลกครั้งนี้ ย่อมได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดใหม่นี้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเด็นคือ (1) ผลกระทบของการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ต่อความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติของไทย และ (2) ผลกระทบของการจัดสรรเม็ดเงินภาษีจากบริษัทข้ามชาติในธุรกิจดิจิทัลต่อรายได้การจัดเก็บภาษีของไทย
  ประเด็นที่ 1 ผลกระทบของการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ต่อความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติของไทย ถึงแม้ว่าไทยจะมีการเก็บอัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 20% แต่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-13 ปี ดังนั้น เมื่อมีการบังคับใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก สิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลก็จะหมดไป ปัจจุบัน มีบรรษัทข้ามชาติที่เข้าเกณฑ์ที่จะถูกบังคับใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกอยู่ประมาณ 100 บริษัท ซึ่งรวมถึงบรรษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ปัจจุบันลงทุนอยู่ในไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่บรรษัทข้ามชาติเลือกมาลงทุนที่ไทยไม่ได้อยู่ที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ซัพพลายเชนที่ครบวงจร โครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ทางการค้า และต้นทุนในการผลิต เข้ามาประกอบด้วย เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการบังคับใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก ก็ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนทางตรงของไทยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะเปลี่ยนไป จากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคล มาเป็นการสร้างแรงดึงดูดในเรื่อง (1) โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค เช่น ถนน รถไฟฟ้า และเครือข่าย 5G และ (2) การเข้าร่วมความตกลงทางการค้า เพื่อให้บริษัทที่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศสามารถส่งออกสินค้าไปประเทศต่าง ๆ โดยไดรับสิทธิประโยชน์ทางการค้า ตลอดจน (3) การให้ความสนับสนุนอื่น ๆ เช่น การให้สิทธิ์ในการถือครองที่ดิน การยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้น จึงยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่ประเทศไทยสามารถใช้เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติได้
ประเด็นที่ 2 ผลกระทบของการจัดสรรเม็ดเงินภาษีจากบรรษัทข้ามชาติในธุรกิจดิจิทัลต่อรายได้การจัดเก็บภาษีของไทย ที่ผ่านมา รายได้ของการให้บริการดิจิทัลที่เกิดขึ้นในไทยบางส่วนถูกแจ้งให้เป็นรายได้ของประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าไทย ในปี 2563 มูลค่าตลาดของการให้บริการดิจิทัลในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท  ประเทศไทยจะได้รับจัดสรรรายได้ภาษีจากบรรษัทข้ามชาติในอัตรา 20%-30% ของกำไรก่อนเสียภาษีที่มากกว่า 10% ซึ่งข้อกำหนดใหม่นี้จะทำให้รายได้จัดเก็บภาษีของไทยเพิ่มขึ้นจากในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะมีรายได้จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตตามยอดขายบริการดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ประเทศที่เข้าร่วมโครงการต้องยกเลิก “ภาษีบริการดิจิทัล (Digital Services Taxes)” ที่มีอยู่เดิมเมื่อเข้าร่วมกรอบการจัดสรรรายได้ภาษีของบริษัทข้ามชาติที่ให้บริการดิจิทัล โดยปัจจุบันหลายประเทศในยุโรป เช่น ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรีย และสเปน ได้มีการเก็บภาษีบริการดิจิทัล ซึ่งเป็นภาษีรูปแบบพิเศษ ที่ตั้งอยู่บนหลักการของภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับประเทศไทย   กรมสรรพากรกำลังจะเริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับผู้ให้บริการดิจิทัลที่อยู่ในต่างประเทศ (non-resident providers of digital services) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ ซึ่งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนี้เป็นการจัดกับภาษีคนละรูปแบบกับภาษีบริการดิจิทัล (Digital Services Taxes) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการของภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในบริการดิจิทัล เพราะฉะนั้น เมื่อข้อกำหนดใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะยังสามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ให้บริการดิจิทัลที่อยู่ในต่างประเทศได้เหมือนเดิม และยังสามารถได้รับการจัดสรรเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อตกลงใหม่ได้อีกด้วย
กล่าวโดยสรุป การปฏิรูปภาษีทั่วโลก น่าจะส่งผลบวกในภาพรวมต่อไทย ในแง่การจัดเก็บรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจดิจิทัล ส่วนผลกระทบจากการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก ที่มีความกังวลว่าจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินั้น ในเบื้องต้นอาจจะยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากประเทศในอาเซียนที่เป็นคู่แข่งในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ก็อยู่ใน 130 ประเทศที่เข้าร่วมการปฏิรูประบบภาษีโลกครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ปัจจัยที่บรรษัทข้ามชาติตัดสินใจเลือกมาลงทุนไม่ได้อยู่ที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ความตกลงทางการค้า และการสนับสนุนจากภาครัฐอื่นๆ ซึ่งมองว่า การบังคับใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกน่าจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติทั่วโลก จากการแข่งขันกันให้สิทธิพิเศษทางภาษีนิติบุคคล มาเป็นการแข่งขันกันสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้าร่วมความตกลงทางการค้าเพื่อให้บริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้ามากขึ้น



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ