Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 พฤษภาคม 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ผลงาน 100 วัน ของโจ ไบเดน ... แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวแกร่ง แต่นัยต่อเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอนสูง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3221)

คะแนนเฉลี่ย


หลังจากที่ โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้มีการผลักดันมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีการออกมาตรการเข้มข้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดพร้อมทั้งเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ชาวอเมริกัน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สามารถกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติมากขึ้น นอกจากนี้ ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังขนาด 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 1/2564 โดยเติบโตถึง 6.4% (QoQ annualized) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546 หากไม่นับรวมไตรมาส 3/2563 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และคาดว่าในปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโตได้ 6.4% ทำให้ขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ระดับช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งมีอานิสงส์ช่วยขับเคลื่อนรายได้จากการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2564 ให้เติบโตที่ราว 7.8%

อย่างไรก็ตาม จากแถลงการณ์การแถลงผลงาน 100 วันแรก ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีนัยต่อเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปให้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ร้อนแรงจากการอัดฉีดมาตรการการคลังขนาดใหญ่ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการ QE ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดคาดการปรับทิศทางนโยบายการเงินให้ลดการผ่อนคลายลงเร็วกว่าที่เฟดประเมินไว้ และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ การอัดฉีดมาตรการทางการคลังอาจนำมาซึ่งการปรับเพิ่มภาษีในกลุ่มประชากรรายได้สูง เพื่อลดการขาดดุลทางการคลัง อย่างไรก็ดี ยังคงมีความไม่แน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวจะผ่านสภาคองเกรสหรือไม่ และสุดท้ายประธานาธิบดี โจ ไบเดนอาจจำเป็นต้องยินยอมปรับลดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัตราการขึ้นภาษี ซึ่งหากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่สามารถผลักดันมาตรการขึ้นภาษีได้ จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังของสหรัฐฯ ยิ่งพุ่งสูงขึ้น และก่อให้เกิดความกังวลในประเด็นความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ นั้นปรับสูงขึ้น ในขณะที่ สำหรับมาตรการระหว่างประเทศ คาดว่าสหรัฐฯ จะเน้นที่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีกับจีนที่เป็นกลไก​ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในยุคดิจิทัลเป็นหลัก รวมทั้งการสร้างฐานพันธมิตรกับต่างชาติให้มาเป็นตัวช่วยต่อกรกับจีนในระยะข้างหน้า ซึ่งจะยังสร้างบรรยากาศตึงเครียดทั้งการการค้าและการลงทุนของโลก ในขณะที่เศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างไทยต้องมีการรักษาสมดุลระหว่างขั้วมหาอำนาจทั้งสอง​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ