Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มีนาคม 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

วิบากกรรมค่าเงินลีรา กับประเด็นความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ และความเป็นอิสระของธนาคารกลาง (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3916)

คะแนนเฉลี่ย

​​​​​ค่าเงินลีราของตุรกีเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก หลังตลาดการเงินเอเชียเปิดทำการในวันจันทร์ที่ 22 มี.ค. 2564 โดยเงินลีราอ่อนค่าทะลุแนว 8.0000 แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือนที่ 8.4706 ลีราต่อดอลลาร์ฯ หรือร่วงลงประมาณ 15% เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดของวันศุกร์ที่ 19 มี.ค. 2564 รับข่าวที่ประธานาธิบดีตุรกี Recep Tayyip Erdogan ประกาศปลดนาย Naci Agbal ผู้ว่าการธนาคารกลางตุรกีเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อนับรวมตั้งแต่เดือนก.ค. 2562 เป็นต้นมาแล้ว มีการปลดผู้ว่าการธนาคารกลางตุรกีออกจากตำแหน่งก่อนวาระแล้ว จำนวนถึง 3 คน 

ตุรกี เป็นหนึ่งในประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตค่าเงิน (เงินลีราตุรกี) ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเด็นด้านความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังเสื่อมถอยลงท่ามกลางสัญญาณที่สะท้อนการแทรกแซงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางตุรกี ซึ่งประธานาธิบดี Erdogan ได้ออกมาเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้ธนาคารกลางตุรกีปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำ แต่ในช่วงเวลาไม่ถึง 5 เดือนของการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าการฯ Agbal ธนาคารกลางตุรกีได้ทยอยคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมทั้งสิ้น 8.75% โดยการประชุมรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 ธนาคารกลางตุรกีมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2.00% มาอยู่ที่ระดับ 19.00% เพื่อสกัดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ และควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์เงินทุนไหลออก 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า วิกฤตค่าเงินลีราของตุรกีในรอบนี้มีความซับซ้อนของปัญหา เนื่องจากความอ่อนแอจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตุรกีไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่จากวิกฤตโควิด 19 ทำให้ค่าเงินลีราของตุรกีมีความเสี่ยงที่จะเผชิญแรงกดดันอีกหลายระลอก และอาจมีผลกดดันสกุลเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง รวมถึงสกุลเงินบางส่วนในเอเชีย แต่สำหรับไทย แม้เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าแต่ผลกระทบยังไม่มาก ขณะที่สถานการณ์ของไทยมีความแตกต่างกว่ามาก เนื่องจากไทยมีสถานะ/เสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง และไทยก็มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ