Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 กรกฎาคม 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การใช้เครื่องมือทางกฎหมายของจีนและสหรัฐฯ...จุดเริ่มต้นของการแข่งขันเป็นผู้นำโลกในยุคใหม่ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3246)

คะแนนเฉลี่ย

นับตั้งแต่การเข้าร่วม WTO ของจีนในปี 2544 การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็เร่งตัวอย่างต่อเนื่อง แตะระดับ 14.72 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ในปี 2564 ส่งผลให้ช่องว่างทางขนาดเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯลดลง ในขณะที่อำนาจต่อรองของจีนกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สร้างความกังวลให้สหรัฐฯ โดยการตอบโต้ในยุคของประธานาธิบดีไบเดนเปลี่ยนจากการต่อสู้ในรูปแบบเดิม ที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการต่อสู่บนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายของประเทศ โดยสหรัฐฯ มีการผ่านร่างกฎหมายสำคัญเพื่อกีดกันและแข่งขันกับจีน โดยสามารถแยกวัตถุประสงค์ได้ดังนี้

1) กฎหมายเพื่อกีดกันจีนในการนำเข้าและส่งออกสินค้าและเทคโนโลยี ต่อเนื่องจากยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีการกีดกันการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากจีน ด้วยเหตุผลทาง Cyber Security รวมถึงการกีดกันจีนไม่ให้ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์อย่าง Semiconductor ผ่านการบรรจุบริษัทเหล่านี้ในบัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์ หรือ “Entity List”  ซึ่งกำหนดให้บริษัทและบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ ต้องขอใบอนุญาติก่อนดำเนินการซื้อขายกับบริษัทเหล่านี้ ทั้งนี้ ยุคของประธานาธิบดีไบเดนยังคงใช้เครื่องมือนี้ในการกีดกันจีนอย่างต่อเนื่อง โดยขยายขอบเขตและเหตุผลในการเพิ่มรายชื่อ จากเรื่องความมั่นคงทางด้านการทหารและเทคโนโลยี ครอบคลุมประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน 
2) กฎหมายเพื่อกีดกันการระดมทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2564 ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี ห้ามให้บริษัทและบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ ลงทุนในบริษัทจีนทั้งหมด 59 บริษัท ที่ถูกบรรจุลงในรายชื่อ “NS-CMIC”  โดยเป็นการปรับแก้เพิ่มและปรับบางรายชื่อออกจาก Executive Order:13959 สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ จากเดิมที่มี 31 บริษัท ซึ่งนักลงทุนสหรัฐฯ มีเวลา 1 ปี ในการถอนการลงทุนเต็มรูปแบบ โดยบริษัทที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว สหรัฐฯ ได้ระบุว่ามีการดำเนินธุรกิจที่อาจสร้างความกังวลด้านประเด็นความมั่นคง หรือเป็นบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพจีน
3) กฎหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดในสมรภูมิการแข่งขันในครั้งนี้ ล่าสุดในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา วุฒิสภาของสหรัฐฯลงมติด้วยคะแนนเสียง 68-32 ผ่านร่างกฎหมาย “Innovation and Competition Act of 2021” มูลค่าเม็ดเงินกว่า 250,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ครอบคลุมการเบิกจ่ายระยะเวลา 5 ปี นับเป็นกฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้เม็ดเงินมหาศาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ 

ความน่าสนใจของการแข่งขันครั้งนี้ คือการใช้เครื่องมือทางกฎหมายของสหรัฐฯ และจีนมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก หากแต่ต่างกันในห้วงของเวลาการนำมาใช้ สหรัฐฯ เริ่มเรียนรู้เครื่องมือในการกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (ผ่าน Innovation and Competition Act) ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนทำมานานแล้วผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ที่เริ่มมีการกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยี บรรจุอย่างชัดเจนมาตั้งแต่แผนฯฉบับที่ 12 (2554-2558) เรื่อยมาจนถึงแผนฯ ฉบับที่ 14 (2564 – 2568) 
ในขณะที่ จีนเริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือในการกีดกันต่างๆ เช่นที่สหรัฐฯใช้มาโดยตลอด โดยล่าสุด ในวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ทางการจีนได้ผ่านกฎหมาย ““Anti-Foreign Sanctions Law” เพื่อเพิ่มอำนาจทางกฎหมายของจีนในการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ของชาติตะวันตก โดยทางการจีนสามารถกำหนดให้บุคคลหรือองค์กรต่างชาติบรรจุลงใน Counter-sanction List หากพบว่ามีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการมีส่วนร่วมกำหนดหรือดำเนินการ ตามมาตรการคว่ำบาตรของต่างชาติที่เลือกปฏิบัติต่อพลเมืองหรือองค์กรของจีน ซึ่งการตอบโต้ของจีนในลักษณะนี้ไม่เคยมีมาก่อน แต่จากความพร้อมทั้งในด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี รวมถึงการทหารของจีนทำให้จีนมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และเลือกใช้เครื่องมือนี้ในห้วงเวลาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยใช้การวางยุทธศาสตร์ชาติผ่านกฎหมาย เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแข่งขันเป็นผู้นำโลกในยุคใหม่ และเป็นการพลิกโฉมการต่อสู้ในรูปแบบเดิมที่มีลักษณะครั้งคราวเป็นการต่อสู่บนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว โดยหนทางในการแข่งขันครั้งนี้ยังอีกยาวไกลและยากจะคาดเดาถึงผลลัพธ์ ซึ่งนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกรวมถึงไทยคงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านนี้เป็นสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น ไทยเองคงต้องดำเนินนโยบายที่รักษาสมดุลจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป




[1] ภายใต้การกำกับดูแลของ Bureau of Industry and Security (BIS) หน่วยงานของ Commerce Department

[2] ภายใต้การกำกับดูแลของ Office of Foreign Asset Control (OFAC) หน่วยงานของ Treasury Department




ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ