Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มีนาคม 2561

เศรษฐกิจต่างประเทศ

สหรัฐฯ กีดกันสินค้าจีน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ผลต่อจีนจำกัด แต่ผลต่อไทยยังต้องติดตาม (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2906)

คะแนนเฉลี่ย

​​               ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีสำหรับมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็นมูลค่าสินค้า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเหตุผลการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ปี 2517 (The 1974 Trade Act) มาตรา 301 สำหรับการกีดกันการค้าในครั้งนี้ แม้กระทบสินค้านำเข้าสูงที่สุดตั้งแต่สหรัฐฯ เดินหน้ากีดกันทางการค้า แต่ผลกระทบต่อการส่งออกของจีนยังค่อนข้างจำกัด โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีนทั้งหมดที่มีมูลค่า 5.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
                ทั้งนี้ ทางการสหรัฐฯ จะเปิดเผยรายละเอียดสินค้าที่กีดกันในอีก 15 วัน ที่คาดว่าน่าจะมีสินค้ากว่า 1,300 รายการ หลักๆ ครอบคลุมสินค้าเทคโนโลยี IT เสื้อผ้า และของเล่น หลังจากนั้นจะเปิดให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็นอีก 30 วัน ซึ่งในช่วงเวลา 45 วันจากนี้ เป็นเวลาสำคัญที่ทั้งสองประเทศจะเจรจาเพื่อหาแนวทางร่วมกัน โดยรายการสินค้าที่สหรัฐฯ จะประกาศออกมาจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สะท้อนแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน โดยสหรัฐฯ คงต้องคิดทบทวนผลประโยชน์ของตนเองอย่างรอบด้าน รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาหากเกิดการโต้กลับในมูลค่าที่เท่าเทียมกันทั้งจากจีนและประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง
 
                ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน น่าจะนำมาสู่ข้อยุติที่ไม่ก่อให้เกิดสงครามการค้าในรอบต่อๆไป โดยอาจเป็นไปได้ว่ามาตรการนี้จะส่งผลแบบเลือกกีดกันเฉพาะบางกลุ่มสินค้าของจีน ซึ่งสหรัฐฯ น่าจะพิจารณาจากสินค้าที่สามารถหาแหล่งอื่นทดแทนได้ ไม่กระทบต่อผู้บริโภค และส่งผลต่อสหรัฐฯ ไม่มากนัก อาทิ อาจเลือกกีดกันเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มาจากบริษัทจีน หรือสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าและของเล่น ซึ่งทำให้คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยเพราะสินค้าไทยมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตของจีนในกลุ่มนี้ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่เป็นการกีดกันครอบคลุมถึงสินค้าอื่นๆ รวมถึงแทบเล็ต คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือหากลุกลามมายังสินค้ายานยนต์ก็อาจส่งผ่านผลกระทบมายังห่วงโซ่การผลิตของไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้าและฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ
                นอกจากนี้ หากมาตรการกีดกันการค้ากับจีนบังคับใช้ขึ้นอย่างเป็นทางการไม่ว่าจะรูปแบบใด และสหรัฐฯ ไม่ได้ใช้มาตรการนี้กับไทย คงต้องจับตาการปรับเปลี่ยนฐานห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเอเชียที่สำคัญ 2 ด้าน คือ การส่งออกสินค้าของไทยไปจีนในกลุ่มส่วนประกอบและชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนอาจเบนเข็มตลาดไปยังเวียดนามแทน ซึ่งเวียดนามอาจกลายเป็นแหล่งผลิตแทนจีนได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่วัตถุดิบขั้นกลางสำหรับคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแม้ไทยจะส่งออกไปจีนได้น้อยลง แต่ทางกลับกันไทยน่าจะได้อานิสงส์จากการขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิมในไทยเพื่อส่งออกไปประกอบในสหรัฐฯ หรือในฐานการผลิตประเทศอื่นก็ตาม ทดแทนการส่งออกจากจีน อย่างไรก็ดี การจะส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าจีนดังกล่าว คงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกันทั้งประเภทสินค้าเหมือนกันหรือไม่ สามารถขยายกำลังผลิตได้แค่ไหนรวมถึงต้นทุนการผลิตรวมค่าขนส่งที่สามารถแข่งขันได้
               อย่างไรก็ดี แม้ในเวลานี้ไทยยังไม่ได้รับข้อยกเว้นใดๆ จากมาตรการที่สหรัฐฯ ประกาศ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรเร่งเตรียมแผนงานรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งต้องติดตามรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะรายงานออกมาในเดือนเมษายนนี้ ว่าไทยยังคงอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าทำการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (Currency manipulation) หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลทางอ้อมให้ค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวนมากขึ้น อันจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทย และส่วนต่างกำไรของผู้ส่งออกที่คงจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นตามภาวะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนสูง