Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มิถุนายน 2561

เศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 1/61 เติบโตขึ้น 5.2% YoY สอดคล้องกับการเร่งตัวของสินเชื่อรายย่อยธ.พ. ไทย (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3750)

คะแนนเฉลี่ย
​            จากรายงานตัวเลขเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 1/2561 ของธปท. สะท้อนว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 77.6% จากระดับ 78.0% ในไตรมาส 4/2560 (ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่ปรับฤดูกาล ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 77.7%) อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2561 ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 12.17 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.2% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากเพิ่ม 4.6% YoY ในไตรมาส 4/2560 ที่ผ่านมา โดยการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2561 ดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับการเติบโตในระดับสูงของสินเชื่อรายย่อยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน เช่น ที่อยู่อาศัย และรถยนต์
   ทั้งนี้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลัก ขณะที่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในส่วนของสินเชื่อที่ปล่อยผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ราวครึ่งหนึ่งเป็นภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเพื่อสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน เช่น ซื้อบ้าน-ซื้อรถ และขยายธุรกิจ ขณะที่ การก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกันนั้น ยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับภาพรวมของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
    สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2561 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อาจชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 76.5-77.5% ต่อจีดีพี (ค่ากลางที่ 77.0% ต่อจีดีพี) เทียบกับระดับ 78.0% ต่อจีดีพีในปี 2560 โดยหลักๆ เป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจ (Nominal GDP) ที่สูงกว่ายอดคงค้างหนี้ อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทย ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2561 จะยังเติบโตได้ใกล้เคียง หรือสูงขึ้นกว่าในปี 2560 (ที่เติบโต 4.6%) เล็กน้อย ซึ่งทำให้ยังคงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในระยะข้างหน้าที่ต้นทุนดอกเบี้ยอาจมีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวมและระดับรายได้ของครัวเรือนหลายๆ กลุ่มจะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแล้วก็ตาม 


​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม