Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 กันยายน 2562

เศรษฐกิจต่างประเทศ

สถานการณ์โจมตีโรงกลั่นน้ำมันซาอุฯ หากยืดเยื้ออาจจะดันเงินเฟ้อปี’ 62 เพิ่มอีก 0.3% (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3818)

คะแนนเฉลี่ย


    เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 2 แห่งของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีทางอากาศ (จากโดรน) ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าพุ่งสูงขึ้นเกือบร้อยละ 12 เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกหวั่นวิตกต่อปัญหาการขาดแคลนอุปทานน้ำมันดิบ นั่นเป็นเพราะซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก และความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียสูญเสียกำลังการผลิตน้ำมันดิบไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 58.2 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของซาอุดีอาระเบีย และคิดเป็นร้อยละ 5.7 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของเหตุการณ์นี้ต่อเศรษฐกิจไทยโดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้
    กรณีฐานซาอุดีอาระเบียไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ ก็น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ภายใต้สมมุติฐานนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทยอยปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับเดิมก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉพาะในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2562 โดยคาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 4 เดือนหลังของปี 2562 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 จากประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเดิม ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.84
    กรณีที่ซาอุดีอาระเบียใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2562  สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นประกอบกับอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ลดลงน่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในระดับที่สูงขึ้นมาอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือของปี 2562 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทางด้วยกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2562 จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้นมาที่ระดับใกล้เคียง 30 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดการณ์ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2562 เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากร้อยละ 0.72 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.48 ซึ่งจะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดทั้งปี 2562 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.08 หรือปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

    นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2562 จะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2562 เกินดุลลดลงราว 1,231 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบจากการเกินดุลการค้าที่ลดลงจะส่งผลต่อเนื่องไปยังอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2562 ให้ลดลงราวร้อยละ 0.2-0.3 ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐในการดูแลราคาพลังงานในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเกินดุลการค้าที่ลดลงอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยบรรเทาแรงกดดันของค่าเงินบาทที่แข็งค่าจากการเกินดุลการค้าของไทยที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ