Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มิถุนายน 2562

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ไทยในฐานะประธานอาเซียน เร่งผลักดัน RCEP ... ฟื้นความสำเร็จของ FTA พหุภาคีในระดับโลก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3001)

คะแนนเฉลี่ย

ผลการประชุม ASEAN Summit 2019 ที่ผ่านมา มีแผนผลักดันกรอบความตกลง RCEP ให้ได้บทสรุปภายในปี 2562 ซึ่งไทยควรใช้โอกาสในการเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ในการเป็นตัวกลางการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อให้การเจรจากรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) มีความคืบหน้าจนบรรลุแผนการเปิดเสรี ทั้งนี้ สมาชิก RCEP ประกอบด้วยอาเซียนและคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศ หรือ Plus 6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์)

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเจรจา RCEP เป็นไปอย่างล่าช้านั้น ประเด็นหลักคงอยู่ที่การเปิดตลาดระหว่างประเทศ Plus 6 ที่เดิมยังไม่มี FTA ระหว่างกัน โดยการจะปลดล็อคปัญหาใหญ่ที่ RCEP เผชิญอยู่สามารถทำได้ 1) การกำหนดกรอบเวลาในการเริ่มเปิดเสรีที่ยืดหยุ่นได้ให้แก่บางประเทศที่ยังไม่พร้อมเพื่อให้มีช่วงเวลาในการปรับตัว 2) การกำหนดเงื่อนไขเฉพาะให้แก่สินค้าที่แต่ละประเทศมีความกังวล อาทิ การกำหนดเงื่อนไขที่ใช้กันทั่วไป โดยการกำหนดรายการสินค้าอ่อนไหว/อ่อนไหวสูงที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และมีช่วงเวลาปรับลดอัตราภาษีที่ยาวนานขึ้น หรือการกำหนดเงื่อนไขเฉพาะ โดยใช้การกำหนดเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROO) ที่ซับซ้อนมาเป็นตัวช่วยปกป้องธุรกิจในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี แนวทางการเจรจาข้างต้นคงต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของสมาชิก RCEP ซึ่งทางการไทยอาจต้องทำงานหนักในการขับเคลื่อนการเจรจาอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดปี

  นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดเสรี RCEP จะยิ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จของการรวมตัวทางการค้าเสรีแบบพหุภาคีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก สร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าเสรีโลกที่กำลังถูกบั่นทอนจากสงครามการค้าในขณะนี้ โดยอานิสงส์ที่ตามมาในระยะเริ่มแรก ประเทศ Plus 6 จะได้ประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดของกันและกัน จากเดิมที่ไม่เคยมี FTA ร่วมกันมาก่อน ซึ่งการลดกำแพงภาษีของ RCEP จะเอื้อประโยชน์ทางตรงต่อการส่งออกสินค้าไทยค่อนข้างจำกัด เพราะไทยได้เปิดเสรีการค้ากับ 16 ประเทศไปแล้ว ขณะที่ผลบวกทางอ้อมจะทำให้สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตในกลุ่มเดิมเติบโตตามไปด้วย สำหรับในระยะต่อไป RCEP จะส่งผลให้เกิดการจัดสรรการผลิตและการลงทุนในภูมิภาคครั้งใหม่ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญของทางการไทยที่ต้องเร่งสร้างแรงดึงดูดด้านการลงทุนเพื่อให้เกิดการต่อยอดจากการลงทุนในอุตสาหกรรมดั้งเดิมในไทยไปสู่เทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนระลอกใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้เกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง ก่อนที่ไทยจะสูญเสียโอกาสเหล่านี้ไป

​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ