จากสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (PM2.5) ที่กลับมามีความรุนแรงอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ในมิติของค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว รวมถึงค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
โดยมองว่า ผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในมิติต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 3,200–6,000 ล้านบาท (ภายในกรอบเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 5 ม.ค.- 5 ก.พ. 2563) ซึ่งใกล้เคียงกับกรอบระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นค่าเสียโอกาสทางด้านสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ) 2,000-3,000 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสในด้านการท่องเที่ยว 1,000-2,400 ล้านบาท และค่าเสียโอกาสภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร ตลาดนัด 200-600 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้คงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและประชาชน เพื่อให้ปัญหาทุเลาลงในส่วนที่จะสามารถทำได้ อาทิ ในส่วนของภาคเอกชน ทั้งการตรวจสอบสภาพรถยนต์ การบริหารจัดการงานก่อสร้าง และกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ในส่วนของภาคประชาชนและเกษตรกร อาทิ การไม่เผาขยะ หญ้าแห้ง หรือพืชผลทางการเกษตรต่างๆ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น