Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 กันยายน 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ร่างกฎหมาย Internal Market Bill ของอังกฤษ ... ชนวนนำไปสู่ No-Deal BREXIT ในสิ้นปี 2563 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3133)

คะแนนเฉลี่ย

​​                นับตั้งแต่ผลประชามติ EU Referendum เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ทำให้สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษต้องถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก EU สิ่งที่ทุกฝ่ายต่างคาดหวังคือการเจรจาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในระยะข้างหน้าระหว่างอังกฤษและ EU ทว่า หลังจากผลของประชามติ ภายใต้การนำของนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้นได้ประกาศใช้มาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอนในเดือนมีนาคม 2560 เพื่อเข้าสู่การเจรจาถอนตัวอย่างเป็นทางการ แต่ตลอดเส้นทางการเจรจาก็ไม่ได้ราบรื่นนัก ต้องผ่านบทพิสูจน์ทางการเมืองที่วุ่นวายจนกระทั่งต้องเปลี่ยนผู้นำเป็นนายบอริส จอห์นสัน เพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาอังกฤษในการประกาศใช้ความตกลงการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจาก EU (Withdrawal Agreement) ที่ล่าช้ามาถึงเดือนมกราคม 2563 เลื่อนจากที่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2562 กระนั้นก็ดี จะเห็นได้ว่าผ่านมากว่า 4 ปี ภาพความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ในอนาคตระหว่างอังกฤษกับ EU ก็ยังไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

                ท่ามกลางปัญหาการเมืองภายในของอังกฤษที่ยากจะหาทางออกนับตั้งแต่เริ่มกระบวนการ BREXIT ในปี 2559 บวกกับเงื่อนเวลาที่ใกล้เข้ามา และสถานการณ์ล่าสุดที่ทางการอังกฤษเตรียมเสนอร่างกฎหมาย Internal Market Bill ที่เปิดช่องให้รัฐบาลอังกฤษสามารถมีข้อปฏิบัติที่ขัดแย้งกับความตกลงที่เคยให้ไว้กับ EU ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เรื่องนี้จะเป็นชนวนใหม่ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับ EU กลับมาเปราะบางยิ่งกว่าเดิม มีผลให้การเจรจาความตกลงทางการค้าที่จะนำมามาทดแทนความสัมพันธ์เดิมที่ควรจะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2563 คงไม่เกิด แต่กลับนำพาอังกฤษเข้าสู่เส้นทาง No-deal BREXIT ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563

              หากเกิด No-deal BREXIT ขึ้นจริงๆ ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ในส่วนของไทยแม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่อังกฤษก็มีบทบาทสำคัญในฐานะตลาดส่งออกสำคัญอันดับต้นๆ ของไทยในยุโรป มีมูลค่าส่งออกปีละประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก การที่เศรษฐกิจอังกฤษฟื้นตัวล่าช้าก็อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยตามมา

                 ​อย่างไรก็ดี การที่อังกฤษถอนตัวจาก EU ก็ส่งผลให้อังกฤษต้องมีระบบศุลกากรและอัตราภาษีนำเข้าเป็นของตนเองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป โดยในเบื้องต้นอังกฤษประกาศให้สินค้านำเข้ากว่าร้อยละ 60 ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า (ตอนเป็นสมาชิก EU สินค้าที่ไม่ต้องเสียภาษีมีเพียงร้อยละ 47 ของสินค้านำเข้าทั้งหมดของอังกฤษ) ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างภาษีของอังกฤษในภาพรวมทำให้ผู้ส่งออกไทยมีภาระทางภาษีน้อยลง ซึ่งในบรรดาสินค้าส่งออกของไทย 20 อันดับแรกไปอังกฤษ สินค้าส่งออกหลักของไทยรายร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมดไปอังกฤษยังมีภาษีคงเดิม ได้แก่ ไก่แปรรูปยังคงมีโควตานำเข้าเหมือนเดิม และรถจักรยานยนต์อัตราภาษียังคงเดิมที่ร้อยละ 6 คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบและวงจรพิมพ์อัตราภาษีคงเดิมที่ร้อยละ 0 สำหรับสินค้าอื่นๆ แม้จะมีการลดภาษีแต่ก็เป็นสินค้ามีมูลค่าส่งออกไม่สูง ตัวอย่างเช่น สินค้าที่อัตราภาษีลดลงเหลือร้อยละ 0 ได้แก่ อาหารสุนัขและแมว อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ สินค้าที่อัตราภาษีลดลงจากเดิม ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 2 (เดิมร้อยละ 2.5) ซอสปรุงรสอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 6 (เดิมร้อยละ 7.7) ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาความสัมพันธ์ที่คลุมเครือของอังกฤษกับ EU รวมทั้งอังกฤษกับประเทศอื่นๆ และนโยบายการค้าที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปลายปีนี้ต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะมีผลต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศของไทย อีกทั้ง หากไทยสามารถการเจรจาความตกลง FTA  กับอังกฤษได้สำเร็จก็เป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยสร้างแต้มต่อทางการค้าให้แก่ไทยได้ในระยะยาว

 


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ