Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 พฤศจิกายน 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จับตา RCEP กรอบการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก... FTA ที่เปิดกว้างที่สุดเท่าที่ไทยเคยมี (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3159)

คะแนนเฉลี่ย

                    ในที่สุดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับ Plus 5 คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็สามารถบรรลุการเจรจาร่วมกันที่มีมายาวนานตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งมาถึงการลงนามที่จะมีขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 37 ที่ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 โดยความตกลง RCEP นี้นับเป็นกรอบการค้าเสรีที่มีทั้งขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกคิดเป็นร้อยละ 31 ของ GDP โลก และขนาดตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนประชากรถึง 2,300 ล้านคน อย่างไรก็ดี RCEP คงต้องรอให้รัฐสภาของชาติอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และ Plus 5 อย่างน้อย 4 ประเทศ ให้สัตยาบันจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้อาเซียนจะมี FTA กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์อยู่แล้ว แต่การรวมเป็น RCEP โดยมีเป้าหมายการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ให้มากที่สุด ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความน่าสนใจให้ทัดเทียมกับ CPTPP แต่ในความเป็นจริงทั้งสองความตกลงไม่สามารถทดแทนกันได้ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตที่ RCEP เน้นหนักไปยังภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ CPTPP น่าสนใจตรงที่สามารถเชื่อมห่วงโซ่การผลิตกับในภูมิภาคอเมริกาได้มากกว่า

                     ​สำหรับไทยที่มีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนอย่างเหนียวแน่นกับประเทศสมาชิก RCEP อยู่แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะข้างหน้าไทยจะได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น โดยผลทางตรงจะมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ขณะที่ผลทางอ้อมจะมาจากการที่ประเทศ Plus 5 จะลดกำแพงภาษีระหว่างกันเป็นครั้งแรก ซึ่งการเกิดขึ้นของ RCEP จะยิ่งทำให้ไทยยังคงเป็นตัวเลือกหลักของฐานการผลิตที่สำคัญในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยยังคงมีความได้เปรียบในด้านการผลิตและส่งออก อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อนึ่ง การที่ประเทศ Plus 5 มีแนวโน้มค้าขายกันเองมากขึ้นจากการลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งนี้คงไม่ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงตลาดกับสินค้าอาเซียนและสินค้าไทยที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสินค้าคนละประเภทกัน

              อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า FTA เป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติเองก็ให้ความสำคัญในการวางแผนขยายธุรกิจด้วยเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเลือกว่า 1) ปรับตัวให้สอดรับกับมาตรฐานของความตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูง โดยเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP หรือเจรจากับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ตลอดจนอังกฤษ หรือ 2) ปรับตัวให้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติแม้ไม่มี FTA กับชาติตะวันตก ซึ่งไม่ว่าจะทางไหนไทยก็ต้องปรับตัวเพราะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ซึ่งภาครัฐบาลไทยต้องเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอยู่ดี


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ