Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 ธันวาคม 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เวียดนามน่าจะยังคงความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้ แม้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะข้างหน้า (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3172)

คะแนนเฉลี่ย

​​          ในรายงานว่าด้วยการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า (Currency Manipulation) รอบล่าสุดที่เปิดเผยในเดือนธันวาคม 2563 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุให้เวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ทั้ง 3 เกณฑ์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากกระบวนการแทรกแซงค่าเงินดองของเวียดนามที่ทางสหรัฐฯ ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนได้จากยอดซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิของเวียดนามสูงถึงร้อยละ 5.1 ต่อ GDP[1] (สูงกว่าเกณฑ์ที่ร้อยละ 2.0 ต่อ GDP) นอกเหนือจาก 2 เกณฑ์หลักซึ่งได้แก่ มูลค่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด

            ทั้งนี้ ค่าเงินดองที่อ่อนค่าเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้การส่งออกสินค้าต่างๆ ของเวียดนามที่มีความได้เปรียบในการผลิตอยู่แล้วมีแรงดึงดูดการลงทุนมากกว่าคู่แข่งประเทศอื่น ทำให้เวียดนามสามารถผลิตและส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี การที่เวียดนามได้ถูกสหรัฐฯ กล่าวหาเรื่องบิดเบือนค่าเงิน จะมีผลให้การดำเนินการในการแทรกแซงค่าเงินในระยะข้างหน้าเป็นไปได้ยากขึ้น อีกทั้ง เมื่อพิจารณาโครงสร้างดุลการชำระเงินที่น่าจะอยู่ในทิศทางเกินดุลสูง เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศที่สูง อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) จำเป็นต้องทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้น (Revaluation) เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่อาจจะถูกสหรัฐฯ ปรับใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าเพิ่มเติม

การทยอยแข็งค่าในกรอบที่จำกัดของเงินดองคงไม่ลดทอนความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของเวียดนามในระยะสั้น-ระยะกลางได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจุดเด่นเชิงโครงสร้างการผลิตของเวียดนามด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ตลอดจนข้อตกลงการค้าเสรีที่กว้างขวาง ขณะค่าเงินดองที่แข็งค่าเอื้อให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางที่ถูกลง ยังไม่น่าที่จะส่งผลกระทบกับผลกำไรภาคส่งออกเวียดนามมากนัก ประสิทธิภาพ สำหรับในระยะข้างหน้าด้วยค่าเงินดองมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันให้แข็งค่าต่อเนื่องจากโครงสร้างทางการค้าที่เกินดุล ทางการเวียดนามคงทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม อันช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามมีระยะเวลาในการปรับตัวเพียงพอต่อทิศทางการแข็งค่าของเงินดองในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าและการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวของนักลงทุน ขณะที่ยังสามารถที่จะลดแรงกดดันจากข้อกล่าวหาในการบิดเบือนค่าเงิน

  สำหรับไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โจทย์สำคัญของทางการไทยคงต้องประคับประคองเศรษฐกิจและเสถียรภาพของกลไกหลักต่างๆ ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ก่อน ส่วนของความสามารถในด้านการแข่งขันนั้น ไทยควรจะเร่งเดินหน้าเจรจาข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ทั้ง CPTPP และ EU-Thailand ส่วนเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน เนื่องจากมีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ ขณะที่การดำเนินมาตรการที่นอกเหนือกลไกตลาด (Non-market measures) เช่น การแทรกแซงโดยตรงในรูปแบบต่างๆ อาจมีผลในระยะยาวต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ (Credibility) ของทางการไทยในสายตาของนักลงทุน ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ที่ตัดสินใจคงต้องนำมาชั่งน้ำหนักด้วยเช่นกัน


[1] เป็นการติดตามการแทรกแซงค่าเงินในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุดก่อนการรายงาน











                                                                                                                                                ​         ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ