Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กุมภาพันธ์ 2566

สถาบันการเงิน

ภาพรวมหนี้ครัวเรือนปี 2566 อาจชะลอลงมาที่กรอบ 84.0-86.5% ต่อจีดีพี...แต่ครัวเรือนยังมีภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูงเป็นข้อจำกัดการเติบโตของการบริโภคในอนาคต (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3383)

คะแนนเฉลี่ย

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในบริบทของประเทศไทย พบข้อสรุปที่สอดคล้องกับการศึกษาของ BIS กล่าวคือ การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการบริโภคในระยะสั้น แต่จะลดศักยภาพการเติบโตของการบริโภคของครัวเรือนในระยะยาว ซึ่งหมายความว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีที่คงตัวอยู่ระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นปัจจัยที่จำกัดการเติบโตของการบริโภคในภาพรวม
        หากมองภาพในระดับที่ย่อยลงมาในปี 2566 รวมถึงในอนาคตอันใกล้หลังจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หนี้ครัวเรือนคงมีอัตราการเติบโตที่ลดความหวือหวาลงจากอดีต เนื่องจาก ประการแรก ทิศทางดอกเบี้ยของไทยที่ยังคงเป็นขาขึ้น คงทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่อ่อนไหวต่อการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อาทิ สินเชื่อรายย่อยที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่วงเงินกู้ยืมต่อสัญญาค่อนข้างสูงและมีการผ่อนชำระหลายปี เช่น สินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออเนกประสงค์ที่มีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงก็อาจทำให้สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้บางกลุ่มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  ประการที่สอง แนวทางดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของทางการไทย ซึ่งจาก Directional Paper แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท. คงทำให้เห็นมาตรการและโครงการต่างๆ เพิ่มเติม ทั้งในส่วนของการแก้ไขหนี้เดิมที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการดูแลการก่อหนี้ก้อนใหม่ที่ในปี 2566 คงมุ่งเน้นไปที่การดูแลความสามารถในการชำระคืนและไม่กระตุ้นการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทยในปี 2566 น่าจะเติบโตในกรอบประมาณ 3.7-4.8% ชะลอลงจากที่เคยเติบโตเฉลี่ยประมาณ 6.0% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อาจชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่สองมาอยู่ที่กรอบประมาณ 84.0-86.5% ในปี 2566 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์สิ้นปี 2565 ที่ 86.8%  และระดับ 90.1% ในปี 2564 ดังนั้น แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยที่เริ่มมีทิศทางทรงตัวหรือปรับตัวลดลง จึงเป็นภาพที่แตกต่างและให้ผลกลับด้านจากในอดีต เพราะแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ทยอยลดลงอาจทำให้การบริโภคชะลอตัวในระยะสั้น แต่ก็จะส่งผลในด้านบวกต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ตลอดจนการเติบโตของการบริโภคและเศรษฐกิจในระยะยาว
        นอกจากนี้ สำหรับในระยะกลาง-ยาว ความท้าทายของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยให้ได้อย่างยั่งยืนจะไม่ได้อยู่แค่เพียงการลดสัดส่วนของหนี้ครัวเรือน แต่จะอยู่ที่การดูแลให้หนี้สินที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคครัวเรือน และทำให้โครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทยมีส่วนผสมของหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน