Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 กุมภาพันธ์ 2565

สถาบันการเงิน

แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตปี 2565: โอกาสขยายกำลังซื้อใหม่ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3307)

คะแนนเฉลี่ย

​ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในปี 2564 กลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยหลังจากที่หดตัวลง 2 ปีติดต่อกัน โดยเป็นการเติบโตจากการผลักดันยอดขายกรมธรรม์รายใหม่ โดยเฉพาะประเภทจ่ายครั้งเดียว ขณะที่เบี้ยปีต่ออายุไม่โต ซึ่งแม้ว่าในปี 2565 ภาพรวมธุรกิจประกันยังอยู่ในช่วงการปรับฐานต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากมีกรมธรรม์ที่ครบกำหนดชำระเบี้ยแต่ยังมีความคุ้มครองจำนวนมาก แต่มีโอกาสที่กำลังซื้อรายใหม่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ที่ 3.5%-4.5% เทียบกับ 1.6% ในปี 2564 ตามที่ สศช. ประเมินไว้ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อและทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ย ที่อาจกระทบต่ออำนาจซื้อทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บริษัทประกันคงต้องพยายามรักษาอัตราการเติบโตในปี 2565 ให้ต่อเนื่องจากปี 2564 ซึ่งหมายถึงต้องเร่งยอดขายเบี้ยใหม่ให้โตไม่น้อยกว่า 7%

อย่างไรก็ดี ในช่วงรอยต่อก่อนเข้าสู่มาตรฐานบัญชีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2567 คงเป็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถในการปรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์หลักให้เป็นที่ยอมรับ โดยระหว่างปี 2565-2566 คงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่น่าจะได้เห็นการพัฒนาและส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ประกันที่เน้นความคุ้มครองมากขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทสะสมทรัพย์คงมีทิศทางลดลง และถูกปรับเปลี่ยนเป็นแบบที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือแบบประกันควบการลงทุนทั้งแบบยูนิตลิงค์และยูนิเวอร์แซลไลฟ์มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้เข้าถึงและเพิ่มโอกาสการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพื่อชดเชยกับขนาดเบี้ยต่อกรมธรรม์ที่มีทิศทางลดลงกว่าเดิม  

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์และกติกาของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2565 ว่า คปภ. จะบังคับใช้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 120% เป็น 140% ในปีนี้ตามแผนเดิมหรือไม่ ซึ่งแม้ไม่กระทบต่อภาพรวมธุรกิจเนื่องจากบริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่มีระดับการดำรงเงินกองทุนสูงเฉลี่ยประมาณ 300% (ณ ไตรมาส 3/2564) แต่ผลกระทบเป็นรายบริษัทอาจแตกต่างกัน ขณะที่ธุรกิจอาจต้องเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมทั้งที่อยู่ในความคาดหมาย อาทิ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงการปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ ๆ ในระยะข้างหน้าภายใต้เงื่อนไขกำลังซื้อที่จำกัดและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความเสี่ยงอื่นที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือความคาดหมาย ซึ่งด้วยการตระหนักถึงความแข็งแกร่งทางการเงิน และความสามารถในการขยายฐานผู้เอาประกัน จะมีส่วนช่วยให้การบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทมีความมั่นคงเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน