Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 กรกฎาคม 2563

สถาบันการเงิน

คาดการณ์ผลประกอบการแบงก์ในไตรมาส 2/2563...กำไรลด แม้สินเชื่อโตสูงจากมาตรการช่วยผู้ประกอบการ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3876)

คะแนนเฉลี่ย

         สภาวะแวดล้อมที่อ่อนแอต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจากการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2563 มีผลกระทบมากขึ้นต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 โดยคงต้องยอมรับว่า วัฏจักรเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในขณะนี้ มีผลกดดันต่อรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ และทำให้มีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ในเกณฑ์ที่สูงกว่าระดับปกติ

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมสินเชื่อระบบธ.พ. ไทยในไตรมาส 2/2563 อาจเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 6.0% YoY เทียบกับที่ขยายตัว 4.1% YoY ในไตรมาส 1/2563 นำโดย การเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อธุรกิจ อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 2/2563 อาจไม่ได้ทำให้ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นดังเช่นที่เคยเห็นในภาวะปกติ เนื่องจาก 2 เหตุผล 1) ธ.พ. มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง MLR/MRR/MOR ในไตรมาส 2/2563 และ 2) สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อ SMEs ที่ปล่อยใหม่น่าจะเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของพอร์ตโดยรวมของธนาคารพาณิชย์

            ท่ามกลางสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์  มีโอกาสขยับขึ้นมาที่ 3.30-3.40% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2563 จากระดับ 3.05% ในไตรมาส 1/2563 โดยคงต้องติดตามสัญญาณด้อยคุณภาพของสินเชื่อในพอร์ตลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อยอย่างใกล้ชิด

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจที่ถูกกระทบอย่างหนักในปีนี้ และยังอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการฟื้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะกลายเป็นสมมติฐานสำคัญที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งใช้ในการวางแผนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องในปีหน้า นอกจากนี้ประสบการณ์หนึ่งที่ได้จากทุกวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ก็คือ ปัญหาคุณภาพหนี้มักเป็นตัวแปรตามหลังสภาวะเศรษฐกิจ (Laggard) ดังนั้นแม้สัญญาณเศรษฐกิจอาจเริ่มดีขึ้นบ้างในปีหน้า แต่จะยังคงมีโอกาสเห็น NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ และทำให้ธนาคารแต่ละแห่งต้องเตรียมการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อแนวโน้มกำไรสุทธิในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน