ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า
สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติยังคงกดดันความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่
3/2563
โดยรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมมีแนวโน้มลดลงตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในหลายๆ
ภาคส่วน นอกจากนี้รายได้ดอกเบี้ยของทั้งระบบธ.พ. ไทย
ยังได้รับผลกระทบมากขึ้นจากทิศทางขาลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ช่วงปลายปี
2562 จากภาพดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบ ธ.พ. ไทยในไตรมาส
3/2563 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท หรือ -66.5% YoY เมื่อเทียบกับที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 9.16 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/2562
ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งมีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทประกันซึ่งธนาคารถือหุ้นอยู่
อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิที่ระดับดังกล่าวขยับขึ้นเล็กน้อยประมาณ 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ในไตรมาส
3/2563 ของธ.พ.หลายแห่งอาจชะลอลงบางส่วน หลังจากที่มีนโยบายการตั้งสำรองฯ เชิงรุกในระดับที่สูงมากในไตรมาส
2/2563 ที่ผ่านมา
สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4/2563
คาดว่า การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บุคคลและลูกหนี้ธุรกิจ
โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs
หลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง
ยังคงเป็นโจทย์ที่ยากและมีความท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังมีสถานะทางการเงินที่เปราะบาง
ขณะที่สัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ลากยาวต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อีกในอนาคต
ดังนั้น แม้มาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจเป็นการทั่วไปจะทยอยสิ้นสุดลง
แต่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะยังคงให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ทั้งลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยในรูปแบบอื่นต่อไป
ควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาความสอดคล้องกันระหว่างกระแสรายได้-ภาระหนี้
ซึ่งแยกตามลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและมีจังหวะและโอกาสในการฟื้นธุรกิจแตกต่างกัน
นอกจากนี้ การประคองความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี
2563 ยังคงมีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าหลายๆ ไตรมาสที่ผ่านมา
เพราะแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยกลับมาหลังการคลายล็อกดาวน์
แต่ก็เป็นการฟื้นตัวที่เปราะบางมาก และในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะยังเป็นช่วงที่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ
เพราะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูง ค่าแคมเปญการตลาด
ค่าอุปกรณ์และสถานที่ และรายจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งท้ายที่สุด
คาดว่าจะมีผลกดดันให้กำไรสุทธิของระบบธ.พ.ไทยติดลบ YoY
ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โดยระดับกำไรสุทธิมีแนวโน้มลดต่ำลงกว่ากำไรสุทธิในไตรมาส
3/2563
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น