Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 สิงหาคม 2562

สถาบันการเงิน

มาตรการ DSR กลุ่มเปราะบาง...กระทบอัตราการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย 0.5% (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3023)

คะแนนเฉลี่ย

​            จากกระแสข่าวช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา น่าจะเป็นสัญญาณที่ยืนยันได้ว่า ธปท. อยู่ระหว่างการดำเนินการใน 2 เรื่องสำคัญเพื่อดูแลประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ได้แก่ 1. การกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ควบคู่ไปกับ 2.การเตรียมกำหนดมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาจากภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) โดยขณะนี้ ยังคงอยู่ระหว่างรอการเปิดเผยรายละเอียดจากธปท.

         เป้าหมายแรกของการกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เน้นที่กลุ่มผู้กู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน นำร่องโดยธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกของธนาคาร ซึ่งจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อก้อนใหม่ (New Booking) ให้กับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว โดยหลังจากที่รวมภาระของสินเชื่อก้อนใหม่แล้ว สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของลูกค้ากลุ่มนี้ ไม่ควรอยู่สูงกว่าระดับ 70% 

            สำหรับผลกระทบจากเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้นสำหรับการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้กู้กลุ่มเปราะบางของธ.พ. นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสินเชื่อธ.พ. น่าจะอยู่ในกรอบประมาณ 1-20% ของยอดสินเชื่อรายย่อยปล่อยใหม่รวมของธ.พ.และบริษัทลูกแต่ละแห่ง หากยังคงมีลักษณะการปล่อยสินเชื่อในแบบเดิมก่อนที่มาตรการมีผล โดยระดับของผลกระทบจะมีความแตกต่างกันตามโครงสร้างของฐานลูกค้า และการกระจุกตัวของพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ขณะที่ ผลต่อภาพรวมสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากเงื่อนไขการปล่อยกู้กลุ่มเปราะบางดังกล่าวต่ออัตราการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยของระบบธ.พ.ไทยปีนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.5% ซึ่งอาจกดดันให้ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยของระบบธ.พ.ไทยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ที่ 6.5% มีโอกาสชะลอลงมาอยู่ที่ 6.0% โดยการวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าว มีสมมติฐานหลัก 2 ข้อ คือ 1. ธ.พ.และบริษัทลูกทยอยเริ่มแนวทางดูแลการปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงสัดส่วน DSR ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 3/2562 และ 2. ธ.พ. และบริษัทลูกไม่สามารถขยายฐานลูกค้ารายย่อยไปยังกลุ่มอื่นๆ มาทดแทนได้

       ​​ เมื่อมองต่อไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จุดจับตาที่อาจมีผลกระทบมากกว่าจะอยู่ที่มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ซึ่งขณะนี้ น่าจะอยู่ระหว่างการเตรียมกำหนดนิยาม/ประเภทของรายได้ โดยหากมาตรฐานกลางสำหรับการคำนวณสัดส่วน DSR มีความเข้มงวดมากขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาสินเชื่อก้อนใหม่ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้กู้รายย่อยที่มีภาระหนี้บางส่วนอยู่ก่อนแล้วได้ในอนาคต    


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม