Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กรกฎาคม 2565

Econ Digest

ส่งออกไก่ไทย 65 โอกาส…ภายใต้วิกฤตอาหารโลก

คะแนนเฉลี่ย



ความกังวลทั่วโลกที่มีต่อวิกฤตอาหารโลก ส่งผลให้ในหลายประเทศมีความต้องการและพยายามสำรองสินค้ากลุ่มอาหารเพิ่มขึ้นหนึ่งในนั้นคือ ผลิตภัณฑ์ไก่ โดยล่าสุด วันที่ 1 มิถุนายน 2565 มาเลเซียได้ระงับส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ กระทบหนักกับคู่ค้ารายสำคัญอย่าง สิงคโปร์ ที่ต้องเร่งหาผลิตภัณฑ์ไก่นำเข้าจากประเทศคู่ค้ารายใหม่ ขณะที่ยูเครนซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตก็ทำให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ได้ลดลงเช่นกัน กระทบกับตลาดปลายทางที่จะต้องหาตลาดนำเข้าใหม่เพื่อเข้ามาชดเชย ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป อังกฤษ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุสำคัญที่เป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว มาจากสถานการณ์ด้านอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัว จากต้นทุนการผลิตที่ขยับสูงขึ้นไล่ตั้งแต่ต้นน้ำ (วัตถุดิบอาหารสัตว์) ค่าพลังงาน/ค่าขนส่ง ไปจนถึงสินค้าปลายน้ำ (ผลิตภัณฑ์ไก่) ซึ่งภายใต้วิกฤตที่เกิดขึ้น อาจเป็นโอกาสสำหรับไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ไปตอบสนองความต้องการในตลาดกลุ่มดังกล่าวได้ จากการเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ที่สำคัญของโลก1  
ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยช่วงที่เหลือของปี 2565 น่าจะยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการของคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (จากการเปิดประเทศ) อังกฤษ (อานิสงส์จากข้อตกลงทางการค้า) เกาหลีใต้ (การรับรองมาตรฐานโรงงานไก่ในไทย) รวมถึงความต้องการที่เพิ่มเข้ามาจากกลุ่มตลาดใหม่ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น อาทิ ซาอุดีอาระเบีย (หาตลาดทดแทนยูเครนและยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่จากไทย) สิงคโปร์ (หาตลาดทดแทนจากมาเลเซีย) มาเลเซีย (เพิ่มการนำเข้าจากการขาดแคลนเนื้อไก่ในประเทศ) จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยไปตลาดโลกปี 2565 น่าจะอยู่ที่ระดับ 3,510-3,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัว 7.5-10.0% YoY) เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่หดตัว 2.4%YoY อย่างไรก็ดี ภายใต้โอกาสทางการค้าแต่ยังแฝงด้วยความท้าทาย ทั้งทิศทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อในประเทศคู่ค้า ต้นทุนการขนส่งและค่าระวางที่ยังสูง สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตที่อาจเป็นข้อจำกัดต่อการรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ความเป็นไปได้ที่ประเทศอื่นๆ อาจจะดำเนินมาตรการรักษาความมั่นคงภายในประเทศตนเองเพิ่มเติม ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อสมดุลผลผลิตและความต้องการในตลาดโลกในช่วงข้างหน้า อาทิ การตรวจพบโรคไข้หวัดนก H5N1/H3N8 ในบางประเทศ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะปัจจัยดังกล่าวอาจกระทบต่อภาคการผลิต การส่งออกและราคาขายปลีกในประเทศของผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยได้
ขณะที่สถานการณ์ราคาไก่ในประเทศ ยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารโลกที่ส่งผ่านมายังราคาในประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบที่ขยับสูงขึ้น อาทิ กากถั่วเหลือง ข้าวโพด (เพราะไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนที่สูง ท่ามกลางสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า) และค่าขนส่งที่ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่ยังมีความต้องการไก่เพื่อทดแทนเนื้อสุกร ซึ่งผลผลิตน่าจะยังไม่กลับมาปกติ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ไก่ยังสามารถขยับสูงขึ้นไปได้อีกเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ราคาขายปลีกเนื้อไก่ (ไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน) เฉลี่ยทั้งปี 2565 น่าจะอยู่ที่ 70-73 บาท/กก. เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 62.15 บาท/กก. (เพิ่มขึ้น 12-17%YoY) ดังนั้น ด้วยทิศทางราคาผลิตภัณฑ์ไก่ที่ยังยืนตัวในระดับสูง อาจส่งผลต่ออัตราการบริโภคที่เติบโตได้อย่างจำกัด ท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่เร่งตัวและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค


--------------------------------------------
1 ผู้ผลิตอันดับที่ 6 ของโลก (ผู้ผลิตที่สำคัญของโลก ได้แก่ บราซิล จีน สหภาพยุโรป รัสเซีย เม็กซิโกและไทย) ผู้ส่งออกอันดับที่ 3 ของโลก (ผู้ส่งออกรายสำคัญของโลก ได้แก่ บราซิล สหภาพยุโรปและไทย) ข้อมูลจาก USDA เดือน เมษายน 2565

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest