Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 สิงหาคม 2565

Econ Digest

กฎหมาย CHIPS ของสหรัฐฯ กระทบห่วงโซ่อุปทานชิป กดดันการแข่งขันอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ไทย

คะแนนเฉลี่ย

​เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมาย CHIPS and Science Act สนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตและวิจัยชิปในประเทศมูลค่ารวม 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นศักยภาพทางการแข่งขันของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายดังกล่าวประกอบกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและชาติพันธมิตร โดยเฉพาะไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ กับจีนที่ดำเนินมาระยะหนึ่ง น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้าต่อโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานชิปที่เดิมกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้กระจายตัวไปยังฝั่งทวีปอเมริกาเหนือมากขึ้น โดยเฉพาะชิปชั้นสูง (Advanced chip) ซึ่งมีขนาดน้อยกว่า 28 นาโนเมตร (nm)

ในฐานะที่ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานชิปในขั้นตอนการประกอบและทดสอบชิป (OSAT) และผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งเป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นปลายโดยเฉพาะรถยนต์สมัยใหม่ที่มีการใช้ชิปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ดังนี้

•    ในระยะสั้นถึงกลาง (น้อยกว่า 5 ปี) เกิดการเริ่มกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทานชิปจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสู่ทวีปอเมริกาเหนือมากขึ้น อย่างไรก็ดี การลงทุนตามแรงหนุนของกฎหมาย CHIPS น่าจะใช้เวลา ส่งผลให้ในช่วงนี้ภาพห่วงโซ่อุปทานอาจยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมากนัก โดยจีนน่าจะยังคงเป็นผู้นำการผลิตชิปขั้นพื้นฐาน (ขนาดมากกว่า 28 nm) ในตลาด mass ขณะที่ไต้หวันก็น่าจะยังคงเป็นผู้นำการผลิตชิปชั้นสูง และกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ยังถือครองเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปชั้นสูงอยู่ ทำให้อุตสาหกรรมชิปโดยรวมยังคงต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของกันและกัน ทั้งนี้ ภายใต้ภูมิทัศน์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อุตสาหกรรมไทยน่าจะได้รับผลกระทบ ดังนี้

                 - ตลาดชิบขั้นพื้นฐาน: OSAT ไทยน่าจะได้รับผลกระทบ แต่ผู้ผลิต PCB ไทยอาจได้รับอานิสงส์จากโอกาสการส่งออก PCB ไปยังสหรัฐฯ

กฎหมาย CHIPS ได้มีการกำหนดเงินสนับสนุนราว 2 พันล้านดอลลาร์ฯ สำหรับการลงทุนในชิปขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมและความมั่นคงของสหรัฐฯ เช่น ชิปจัดการพลังงานและเซ็นเซอร์ชั้นสูงในรถยนต์และอุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น เมื่อประกอบกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ในบริเวณช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นฮับของ OSAT ราว 65% ของโลก (ส่วนแบ่ง OSAT จีน 38% และไต้หวัน 27%) และฮับของการผลิตเวเฟอร์ราว 74% ของโลก (จีน 8% และไต้หวัน 66%) อาจทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการพยายามลดความเสี่ยงของธุรกิจ โดยการทยอยกระจายห่วงโซ่อุปทานชิปขั้นพื้นฐานที่สำคัญและขาดไม่ได้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ไปยังทวีปอเมริกาเหนือมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่แต่ฝั่งเอเชียแปซิฟิก ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานชิปขั้นพื้นฐานดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ OSAT ไทยที่มีฐานหลักในฝั่งเอเชียแปซิฟิกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนชิปชั้นสูงในสหรัฐฯ น่าจะก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ PCB ซับซ้อนสูง โดยเฉพาะ PCB หลายชั้น และ HDI (High-density interconnect) โดยปัจจุบันสหรัฐฯ มักนำเข้า PCB จากจีนและไต้หวันเป็นหลัก (ส่วนแบ่ง 37% และ 21% ตามลำดับ) เมื่อประกอบกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้สหรัฐฯ น่าจะมีแนวโน้มพยายามลดการพึ่งพาแหล่งนำเข้าดังกล่าวในอนาคต โดยอาจจะหันมาเพิ่มการนำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 3 ถึง 5 ของโลกตามลำดับ โดยไทยน่าจะได้รับอานิสงส์สำหรับ PCB ซับซ้อนในยานยนต์และอุปกรณ์เทเลคอม ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ไทยมีความเชี่ยวชาญอยู่ในระดับหนึ่ง ในอีกด้านหนึ่ง การลงทุนผลิต PCB ชั้นสูงเองในสหรัฐฯ อาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะกฎหมาย CHIPS ของสหรัฐฯ ไม่ได้ครอบคลุมการสนับสนุน PCB ดังกล่าว

                 - ตลาดชิบชั้นสูง: ผลกระทบต่อ OSAT ไทยคงจำกัด แต่ไทยอาจถูกกระทบจากภาวะตึงตัวของอุปทานชิปขั้นสูงในการผลิตสินค้าไฮเทคของค่ายจีนที่มาลงทุนในไทยในระยะข้างหน้

ปัจจุบันไทยแทบไม่มีบทบาทในขั้นตอนการประกอบและทดสอบชิปชั้นสูง ดังนั้น OSAT ไทยจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากกฎหมาย CHIPS เนื่องจากขั้นตอนดังกล่าวมักดำเนินการอยู่ในประเทศที่เป็นที่ตั้งของการผลิตชิปชั้นสูง เพื่อความต่อเนื่องของกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน ประกอบกับกฎหมาย CHIPS ของสหรัฐฯ ก็ครอบคลุมเงินสนับสนุนสำหรับขั้นตอนการประกอบและทดสอบเช่นกัน ทำให้การกระจายการผลิตชิปชั้นสูงไปยังสหรัฐฯ น่าจะหนุนให้เกิดการทยอยลงทุน OSAT สำหรับชิปชั้นสูงในสหรัฐฯ ควบคู่กันไป

อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาวะตึงตัวของอุปทานชิปขั้นสูงในการผลิตสินค้าไฮเทคของค่ายจีนที่มาลงทุนในไทย การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างค่ายพันธมิตรสหรัฐฯ กับจีน ทำให้สหรัฐฯ ออกมาตรการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงต่อบางบริษัทจีนในบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเทเลคอมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะทวีความเข้มข้นขึ้นจากกฎหมาย CHIPS ที่กำหนดให้บริษัทที่ได้รับเงินสนับสนุนไม่สามารถลงทุนหรืออัพเกรดการผลิตชิปชั้นสูงในจีนเป็นระยะเวลา 10 ปี ส่งผลให้จีนน่าจะยิ่งเผชิญข้อจำกัดการเข้าถึง และจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิปชั้นสูงขึ้นเองซึ่งน่าจะยังคงต้องใช้ระยะเวลา ทั้งนี้ การเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงอุปทานชิปชั้นสูงของจีน จึงอาจส่งผลต่อภาวะตึงตัวของอุปทานชิปในอุตสาหกรรมการผลิตที่จีนทยอยเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์สมัยใหม่อย่างรถ EV ในอีกด้านหนึ่ง ห่วงโซ่การผลิตสินค้าไฮเทคของค่ายพันธมิตรสหรัฐฯ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย น่าจะไม่เผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานชิปชั้นสูง ตั้งแต่อุปกรณ์การผลิต เคมีภัณฑ์ และเทคโนโลยีกระบวนการผลิต สามารถเข้าถึงได้ระหว่างพันธมิตรสหรัฐฯ ด้วยกัน

•    ในระยะยาว (มากกว่า 5 ปี) การกระจายห่วงโซ่อุปทานชิปสู่ทวีปอเมริกาเหนือ และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิปชั้นสูงของจีนน่าจะประสบผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีน่าจะทวีความเข้มข้นขึ้น ทำให้เทคโนโลยีและห่วงโซ่อุปทานชิปน่าจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่ายอย่างชัดเจนมากขึ้น คือ ค่ายพันธมิตรสหรัฐฯ ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานหลักอยู่ในเอเชียแปซิฟิกและทวีปอเมริกาเหนือ และค่ายพันธมิตรจีน ซึ่งน่าจะมีห่วงโซ่อุปทานหลักอยู่ในเอเชียแปซิฟิก

สำหรับผู้ประกอบการ OSAT และ PCB ไทย ยุทธศาสตร์ระยะยาวน่าจะเป็นการพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองค่าย แม้ว่าผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันมักดำเนินนโยบายธุรกิจโดยวางตำแหน่งตนเองเป็นกลางในห่วงโซ่อุปทาน และบางบริษัทก็มีการลงทุนโรงงานอยู่ทั้งในสหรัฐฯ และจีน ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับเข้าหาตลาด อย่างไรก็ดี ในระยะยาว การแบ่งแยกมาตรฐานทางด้านเทคโนโลยี อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันในเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต ทำให้ต้องมีการลงทุนสายการผลิตที่ต่างกันเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า นอกจากนี้ อาจยังต้องเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นกับผู้ประกอบการท้องถิ่นทั้งในสหรัฐฯ และจีน ที่ร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกับผู้นำเทคโนโลยีในกลุ่มของตน ทำให้มีความได้เปรียบด้านความสัมพันธ์และเทคโนโลยีที่ใช้ในห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยอาจต้องเผชิญความท้าทายในการแข่งขันมากยิ่งขึ้นในระยะยาว

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest