Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 ธันวาคม 2563

Econ Digest

ไทยรุกสู่...การเป็นฐานผลิตรถยนต์ EV ของภูมิภาค

คะแนนเฉลี่ย

​​         หลังจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ารอบก่อนหมดเขตขอรับส่งเสริมการลงทุนไปเมื่อสิ้นปี 2561 ซึ่งแม้จะได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีในแง่ของจำนวนผู้สมัครระดับหนึ่ง แต่สำหรับการลงทุนผลิตจริงยังมีแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น จากปัจจัยต่างๆที่มากระทบ เช่น ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่โลกที่ยังมีข้อจำกัด และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การลงทุนบางส่วนต้องหยุดชะงักไป รวมถึงมาตรการจูงใจของไทยที่ผ่านมาอาจยังไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคได้ดีนัก

          ทว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าโลกเปลี่ยนไปมีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในตลาดหลักของโลกอย่างจีนและสหรัฐฯที่กำลังกลับมาเร่งสนับสนุนยานยนต์ BEV เพื่อผลักดันเศรษฐกิจในประเทศ หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างอินโดนีเซียก็เริ่มเป็นที่สนใจลงทุนในกลุ่มค่ายรถและผู้ผลิตแบตเตอรี่แล้ว จึงจำเป็นที่ไทยต้องมีการปรับนโยบายเพื่อกระตุ้นการลงทุนให้เร็วขึ้นเช่นเดียวกันเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในห้วงเวลาขณะนี้ ซึ่งมาตรการล่าสุดของบีโอไอนอกเหนือจากจะมีการสนับสนุนการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าหลากหลายประเภทมากขึ้นแล้ว ยังมีการขยายประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่เปลี่ยนไปจากยุทธศาสตร์ดึงดูดการลงทุนในอดีตที่เน้นการดึงค่ายรถเข้ามาก่อน แล้วผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เห็นโอกาสจึงตามเข้ามาลงทุน เป็นแบบใหม่ที่เพิ่มมิติการดึงดูดผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น เพื่อเร่งให้เกิดการสร้างห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างครอบคลุมมากขึ้นในประเทศ อันจะกลายมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ที่สนใจผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในอนาคตให้เข้ามาลงทุนอีกทอด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแนวทางใหม่นี้เมื่อผนวกรวมกับทิศทางการผลิตยานยนต์โลกปัจจุบันที่มุ่งใช้ชิ้นส่วนมาตรฐานเดียวกันมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนผ่านการใช้ platform ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและรุ่นของยานยนต์ที่หลายหลายขึ้น จะทำให้การวางยุทธศาสตร์มุ่งเน้นให้ไทยสามารถขึ้นเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ครบห่วงโซ่อุปทานได้ก่อนนั้น ช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในไทยง่ายขึ้น และสร้างโอกาสในการขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในอนาคตได้มากกว่าอดีต

           ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองที่เห็นด้วยกับรูปแบบการส่งเสริมการลงทุนใหม่ดังกล่าว เนื่องจากจะช่วยสร้างโครงข่ายห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในประเทศอาศัยความเชื่อมโยงกันทางเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตระหว่างชิ้นส่วนของยานยนต์กลุ่มต่างๆ ซึ่งจะทำให้กระบวนการผลิตเกิด Economies of Scale ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดจะเข้ามาช่วยทดแทนห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายในเดิมที่กำลังจะลดบทบาทความสำคัญลงในอนาคต และกลายมาเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ไทยก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็นฐานการผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของภูมิภาคได้ผ่านการพัฒนาขึ้นเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอันหลากหลายที่มีความสำคัญและจำเป็น ทดแทนจุดอ่อนที่ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียในเรื่องการเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ (อย่างไรก็ตาม ต้นทุนแบตเตอรี่มีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนลดทอนบทบาทความสำคัญของแบตเตอรี่ในอนาคตลง) อนึ่ง แม้ไทยจะมีข้อจำกัดในการผลิตแบตเตอรี่จากการไม่มีวัตถุดิบขั้นต้น แต่มาตรการส่งเสริมใหม่ของบีโอไอที่เข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้นและมีความยืดหยุ่นขึ้นได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในกรณีที่สนใจและมีความพร้อมที่จะลงทุนในระดับขั้นตอนการผลิต Module หรือ Cell โดยการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตได้นั้น ก็คาดว่าจะช่วยอุดช่วงโหว่ดังกล่าวได้พอสมควร  

           ​ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าฉบับใหม่ที่จะออกมากน่าจะทำให้การผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (รวม HEV, PHEV และ BEV) ในไทย ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อส่งออกจะขยายตัวขึ้นจากที่คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตราว 45,000 คันในปี 2563 ขึ้นเป็น 750,000 คัน ในปี 2573 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ในปีดังกล่าวที่คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2,500,000 คัน 






        


                                                                                                                                                                                                     ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​   

 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest