Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 ตุลาคม 2563

Econ Digest

อุปสงค์โลกฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้า ส่งออกไทย ก.ย. 63 หดตัวน้อยลงที่ -3.9%

คะแนนเฉลี่ย
​ส่งออกไทยเดือน ก.ย. 2563 มูลค่าอยู่ที่ 19,621.3 ล้านเหรียญฯ หดตัว -3.9% ท่ามกลางอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ 9 เดือนแรก การส่งออกไทยหดตัวที่ -7.3% โดยได้แรงหนุนจาก การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า พลิกกลับมาขยายตัวได้ดี 11.6% หลังจากหดตัว 4 เดือนติดต่อกัน ขณะที่การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ 8.3% ซึ่งปัจจัยผลักดันส่วนหนึ่ง มาจากการทำงานที่บ้าน (work from home)  ที่ส่งผลให้อุปสงค์ของสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นทั่วโลก ประกอบกับมีการเร่งส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ในเดือนนี้การส่งออกสินค้าเกษตรก็กลับมาขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและผักผลไม้ ขณะที่สินค้าประเภทอาหาร เช่น ทูน่ากระป๋อง สุกรแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง ก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่การส่งออกหดตัวในเดือน ก.ย. 2563 ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมๆ เช่น รถยนต์ เครื่องจักรกล น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา ข้าว และน้ำตาลทราย  ขณะที่การส่งออกทองคำกลับมาหดตัวที่ -9.2%  เนื่องจากราคาทองคำที่ปรับลดลง หลังจากขยายตัวอย่างมากในเดือนก่อนหน้า

หากพิจารณารายประเทศ พบว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน การส่งออกไปยังจีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รวมถึงบางประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม และมาเลเซีย ก็พลิกกลับมาขยายตัว  ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปหดตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการที่สะสมจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand)

ทั้งนี้ เนื่องจากการส่งออกไทยใน 9 เดือนแรกหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทบทวนประมาณการส่งออกไทยปี 2563 โดยคาดว่า จะหดตัวลดลงมาอยู่ที่ -7.0% จากคาดการณ์เดิมที่ -12.0% โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4/2563 อย่างไรก็ดี การส่งออกในช่วงสุดท้ายของปี ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดซ้ำของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ที่อาจรุนแรงกว่าระลอกแรก ขณะที่ปัจจัยการเมืองโลกอย่างเลือกตั้งสหรัฐฯ และประเด็น Brexit น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและกดดันการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า






                                                                                                                                                                                                                ​ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest