Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 ตุลาคม 2563

Econ Digest

เครื่องมือ และ อุปกรณ์การแพทย์ อุตสาหกรรมดาวรุ่ง แม้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

คะแนนเฉลี่ย

             อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศที่มีมูลค่ากว่า 90,000 ล้านบาท ในปี 2562 แบ่งเป็น 1) วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์/ใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงมือทางการแพทย์ หลอดฉีดยา สายสวน 2) ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย รถเข็นผู้ป่วย และ 3) ชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค เช่น น้ำยาตรวจโรคไต โรคเบาหวาน กรุ๊ปเลือด เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ความต้องการเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ของไทย ในกลุ่มชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยตรวจเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนได้จาก ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มูลค่านำเข้าขยายตัวสูงถึงร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical hub) ผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 14 ล้านคน จากการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงการใส่ใจดูแลสุขภาพในลักษณะเชิงป้องกัน (Preventive care) ก็น่าจะหนุนให้ความต้องการเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

                อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ไทยจะมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากจากปัจจัยหนุนข้างต้น แต่ที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าตลาดทั้งหมดในประเทศ เป็นการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครื่อง X-ray เครื่องตรวจวัดคลื่นหัวใจ เครื่องอัลตราซาวน์ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง และผลิตภัณฑ์ทางจักษุวิทยา เป็นต้น และอีกร้อยละ 20 เป็นการผลิตโดยผู้ประกอบการไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ไทยผลิตได้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มถุงมือทางการแพทย์ เลนส์แว่นตา หลอดสวน หลอด-เข็มฉีดยา อุปกรณ์ทำแผล โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้สัดส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ของผู้ผลิตไทยยังจำกัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไทยยังไม่สามารถผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ และต้องพึ่งพาการนำเข้าเกือบ 100% ในขณะที่เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ไทยผลิตเองได้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัสดุใช้แล้วทิ้ง ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงมาก อีกทั้งครุภัณฑ์ทางการแพทย์บางประเภท เช่น เตียงผู้ป่วย รถเข็นผู้ป่วย ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงกับคู่แข่งที่สำคัญ ซึ่งถ้าแข่งขันด้านราคาก็จะเจอคู่แข่งจากจีน หรือถ้าแข่งด้านคุณภาพก็จะเจอคู่แข่งจากญี่ปุ่น จึงทำให้ตลาดเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทยยังไม่ได้รับการยอมรับ และมีสัดส่วนที่ยังน้อย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ของไทยในอนาคต ยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก ตามการเติบโตของธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (Healthcare) โดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ (Nursing home) รวมถึงความต้องการใช้อุปกรณ์การแพทย์พื้นฐานในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เช่น เครื่องตรวจวัดความดัน เครื่องตรวจปริมาณน้ำตาล ปรอทวัดไข้ แต่โอกาสที่เพิ่มขึ้นนี้ดูเหมือนจะเป็นโอกาสของผู้ผลิตต่างชาติมากกว่า

              ​ดังนั้น หากไทยต้องการลดสัดส่วนการนำเข้าและหันมาใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์บางกลุ่มที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ตั้งแต่การรักษาและพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของวัตถุดิบ คุณภาพและมาตรฐานของการผลิตที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า การทำการตลาดผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง Offline และ Online และอาจจะเริ่มต้นจากกลุ่มครุภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางหรือไม่ซับซ้อน เช่น เตียงผู้ป่วย รถเข็นผู้ป่วย อุปกรณ์ใช้แล้วทิ้งต่างๆ เช่น ถุงมือทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย รวมถึงชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้น่าจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า กลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือมีการผลิตที่ซับซ้อน ก็ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตไทยอาจจะยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากไทยสามารถลดอุปสรรคตลอดห่วงโซ่อุทานได้ ก็น่าจะทำให้มูลค่าตลาดเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ของไทยจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.8 ต่อปี (CAGR ปี 2562-2565) หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยสัดส่วนการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์น่าจะลดเหลือร้อยละ 77 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนของตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด และหากไทยสามารถรักษาคุณภาพและมาตรฐานของการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีการสนับสนุนในเรื่องของงานวิจัยและพัฒนาที่จะต่อยอดหรือยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชน รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ Start-up รุ่นใหม่ ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตมากขึ้น ก็อาจจะนำมาซึ่งโอกาสในการส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคต






                                                                                                                                                                                                                ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest