Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

การลงทุนยุคใหม่...ต้องดูให้ครอบคลุม มากกว่าความเสี่ยงและผลตอบแทน

คะแนนเฉลี่ย

​ปี 2563 เป็นปีที่เราเห็นการแกว่งตัวของราคาสินทรัพย์ทั่วโลก ทั้งในส่วนของทองคำ หุ้น รวมไปถึงสินทรัพย์ทางเลือกอย่างบิทคอยน์ โดยแม้ทุกสินทรัพย์จะเผชิญแรงขายอย่างหนักจากนักลงทุนที่ต้องการกอดสภาพคล่องในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ก็สามารถทยอยฟื้นตัวกลับมาภายหลังการคลายล็อกดาวน์ในช่วงกลางปี โดยทองคำพุ่งขึ้นทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนส.ค. ขณะที่ราคาบิทคอยน์ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี 10 เดือนหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา

การเหวี่ยงตัวขึ้นของราคาสินทรัพย์ หลังจากร่วงลงไปแตะจุดต่ำสุดของปีในช่วงการระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผลตอบแทนจากการลงทุน โดยยิ่งสินทรัพย์มีความผันผวนมาก การจับจังหวะเข้าซื้อ หรือขายสินทรัพย์ (timing) ก็จะยิ่งมีความสำคัญ สมมติว่า เราใช้วิธีการทางสถิติมาช่วยคำนวนค่าความผันผวนของราคาสินทรัพย์แต่ละประเภท จะพบว่า ในปีนี้ บิทคอยน์ หุ้น และทองคำล้วนมีความผันผวนสูงขึ้นกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา และหากเปรียบเทียบระหว่างสินทรัพย์แล้ว บิทคอยน์จะมีความผันผวนมากกว่าหุ้นและทองคำ

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ การกระจายเงินลงทุนจากมิติผลตอบแทน-ความเสี่ยงอาจไม่เพียงพอ เพราะในโลกการเงินสมัยใหม่มีสินทรัพย์ทางเลือกที่หลากหลาย ซึ่งบิทคอยน์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่า นอกจากนักลงทุนจะต้องมีความเข้าใจในคุณสมบัติของบิทคอยน์แล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย  โดยเฉพาะการกำกับดูแลและประเด็นทางกฎหมายที่ยังมีความแตกต่างกันในหลายประเทศ ซึ่งหมายถึงระดับการยอมรับและการดูแลนักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทในขอบเขตที่ต่างกัน ตลอดจนความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขของการลงทุน รวมถึงสภาพคล่องที่ยังน้อยกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ และเหนือสิ่งอื่นใด นักลงทุนจะต้องรู้จักต้นทุนและลิมิตการแบกรับความเสี่ยงของตนเอง และต้องระลึกเสมอว่า ไม่มีทางลัดสำหรับการทำกำไรจากการลงทุน และอย่าให้ความโลภและอารมณ์เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุน  










                                                                                                                                               ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest