Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 เมษายน 2566

Econ Digest

ธุรกิจแบงก์ไทย ไตรมาส 1/2566 แม้รายได้หลักขยายตัวได้...แต่ยังต้องระวังปัญหาหนี้เสีย

คะแนนเฉลี่ย

​        สถานการณ์สินเชื่อไตรมาส 1/2566 ของระบบแบงก์ไทยอาจเติบโตในกรอบที่ชะลอลงมาที่ 1.9-2.3% เนื่องจากการทยอยชำระคืนสินเชื่อ อย่างไรก็ดี คาดว่า ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อยังคงขยับสูงขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/2566 จะส่งผลหนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ให้ขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่กรอบประมาณ 3.05-3.17%
        แม้รายได้จากธุรกิจหลักจะทยอยมีสัญญาณฟื้นตัว แต่แบงก์ยังคงต้องเฝ้าระวังปัญหาการไถลลงของคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอาจเพิ่มแรงกดดันต่อลูกหนี้บางกลุ่ม อาทิ ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก รวมไปถึงลูกหนี้ที่เพิ่งออกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ดังนั้น แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วน NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมแบงก์ไทย 17 แห่งและสาขาธนาคารต่างชาติ 11 แห่ง) จะยังคงทรงตัวอยู่ที่กรอบ 2.70-2.75% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2566 ใกล้เคียงกับ 2.73% ในไตรมาส 4/2565 ซึ่งก็จะส่งผลทำให้แม้ระดับสำรองฯ อาจชะลอลงบ้างจากที่สำรองฯ ก้อนใหญ่ไปแล้วในช่วงปลายปี 2565 แต่ก็จะไม่ลดลงเร็วมากนัก โดยคาดว่า สัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อหรือ Credit Cost อาจจะขยับลงมาได้บ้าง มาอยู่ที่กรอบ 1.17-1.25% ในไตรมาส 1/2566 หลังจากที่ขยับขึ้นไปแตะ 1.46% ในไตรมาส 4/2565 จากผลของการเร่งสำรองฯ ของธนาคารพาณิชย์บางแห่งเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
        นอกจากนี้สำหรับในระยะข้างหน้า คงต้องติดตามแนวทางการเข้ามาดูแลโครงสร้างค่าธรรมเนียมของทางการเพื่อดูแลและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและทำให้แบงก์คงต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรับมือกับแนวโน้มที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอาจมีกรอบการเติบโตที่ค่อนข้างจำกัดในอนาคต

 


Click
 ชมคลิป ธุรกิจแบงก์ไทย ไตรมาส 1/2566 แม้รายได้หลักขยายตัวได้...แต่ยังต้องระวังปัญหาหนี้เสีย

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest