Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

ไทยเที่ยวไทย...คนไทย เน้นเที่ยว ธรรมชาติ ภูเขา

คะแนนเฉลี่ย

                สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563 ที่ผ่านมา คนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวกลับประมาณ 24.3 ล้านคน-ครั้ง หดตัวประมาณ 38.9% (YoY) ดีขึ้นจากในไตรมาส 2 ซึ่งมีการเดินทางเพียง 3.9 ล้านคน-ครั้ง ขณะที่การใช้จ่ายในด้านการท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 1.16 แสนล้านบาท 


            เมื่อวิเคราะห์การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในจังหวัดต่างๆ เป็นรายจังหวัด ซึ่งจะมีทั้งกลุ่ม นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเช้า-เย็นกลับ หรือการแวะท่องเที่ยวระหว่างทาง และนักท่องเที่ยว (เป็นกลุ่มที่พักค้างคืนในพื้นที่) ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563 พบว่า แม้จำนวนจะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนการระบาดโควิด แต่อัตราการหดตัวชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า และมีบางจังหวัดมีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวเกือบเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อาทิเชียงใหม่ (-2.7% (YoY)) แม่ฮ่องสอน (-8.8% (YoY)) ชลบุรี (-10.1% (YoY)) เพชรบุรี (-11.5% (YoY)) และประจวบคีรีขันธ์ (-12.2% (YoY)) ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการท่องเที่ยว แต่ก็มีบางจังหวัดที่การฟื้นตัวยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ อาทิ ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี และชัยภูมิ เป็นต้น 


             ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศน่าจะยังรักษาระดับการเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทย  โดยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทางภูเขาจะมีความคึกคักเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้ของทุกๆ ปี ซึ่งจังหวัดที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวยังเป็นจังหวัดหลักๆ เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีการทำการตลาดประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวต่อเนื่อง และบางจังหวัดมีระบบการคมนาคมขนส่งที่สะดวก อย่างเช่น เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ราชบุรี นครราชสีมาและเลย เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทางภูเขาที่มีศักยภาพ ทางหน่วยงานท้องถิ่นและที่เกี่ยวข้องคงจะต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้มากขึ้น


               สำหรับภาพรวมตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2563 นี้ ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยน่าจะแตะที่กรอบล่างของการประมาณการ โดยอยู่ที่ประมาณ 89.5 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 46.4% และการใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 5.06 แสนล้านบาท หดตัว 53.3% จากปี 2562 อย่างไรก็ดี หากไม่มีปัจจัยลบเข้ามาเพิ่มเติมอย่างการระบาดของโควิดในประเทศ หรือปัญหาการเมือง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมของตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ในช่วงปลายไตรมาส 1 ของปี 2564 โดยหลายจังหวัดน่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวหลักของคนไทย อาทิ เชียงใหม่ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ขณะที่จังหวัดที่อาจจะทยอยฟื้นตัวช้า อย่างแหล่งท่องเที่ยวทางใต้ เช่น ภูเก็ต ซึ่งเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวไทยส่วนหนึ่งที่ยังมีความกังวลในเรื่องของโควิดอาจจะปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว 


               แม้การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศจะดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว แต่เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ภาคธุรกิจยังต้องแข่งขันสูง ซึ่งสภาวะดังกล่าวก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคา อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็คงจะต้องพิจารณาใช้กลยุทธ์อื่นๆ ควบคู่ด้วย อย่างการใช้ช่องทางเทคโนโลยีเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการสร้างการรับรู้และสร้างเทรนด์การท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในพื้นที่  โดยเฉพาะในยุคนี้ สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่จะเลือกสถานที่ท่องเที่ยว ที่พักและการใช้บริการท่องเที่ยวอื่นๆ จากการรีวิว การแชร์ภาพหรือกิจกรรมท่องเที่ยวและยังทำให้เกิดพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ดังกล่าว 







Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest