Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 กันยายน 2565

Econ Digest

หวานนี้...ยังเหมือนเดิม สรรพสามิตเลื่อนเก็บภาษีความหวานระยะที่ 3 ออกไปอีก 6 เดือน ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน ต่อเวลาปรับสูตรและพัฒนาการผลิต

คะแนนเฉลี่ย

​แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลง แต่ค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต้องเผชิญต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยรวมในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 4.64 แสนล้านบาท เติบโต 4.0% (YoY) จากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยเป็นผลจากปริมาณการบริโภคที่ขยายตัวราว 2.8% (YoY) ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากการกลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้นและนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ราคาเครื่องดื่มคาดว่าจะปรับขึ้นราว 1.2% (YoY) ท่ามกลางธุรกิจที่ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุนที่สูงขึ้นในระยะนี้ ซึ่งการเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวาน ระยะที่ 3 ออกไปอีก 6 เดือน น่าจะช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการได้บางส่วน

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการขยายเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตความหวานระยะที่ 3 จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ออกไปอีก 6 เดือน และจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2566 แทน และเลื่อนการจัดเก็บภาษีระยะที่ 4 ไปบังคับใช้ตั้งแต่

1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป ทำให้ปีนี้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มยังคงถูกจัดเก็บภาษีในอัตราเดิม ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต้องเผชิญทั้งต้นทุนเชื้อเพลิงและวัตถุดิบต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และช่วยให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลามากขึ้นในการปรับสูตรสินค้าและพัฒนากระบวนการผลิตสำหรับรองรับการจัดเก็บภาษีความหวานเครื่องดื่มที่เข้มงวดขึ้นในระยะต่อไป



อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีโจทย์เฉพาะหน้าจากปัจจัยกดดันด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าหลายชนิดที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้การปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการอาจยังไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มอาจอาศัยระยะเวลาที่มีการชะลอการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานออกไปในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุขภาพที่หวานน้อย/ให้พลังงานต่ำ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น

ในระยะข้างหน้า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มยังต้องติดตามความคืบหน้าการจัดเก็บภาษีเพื่อสุขภาพอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต อาทิ ภาษีเบียร์ 0% ภาษีเครื่องดื่มชนิดใหม่อย่างเครื่องดื่มจากกัญชง เป็นต้น อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องไปกับความตระหนักเรื่องความยั่งยืนของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาระบบเรียกคืน/ลดขยะบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค เพื่อขยายตลาดและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น